‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ หลักสูตรที่ไม่มีในห้องเรียน แต่มีในชีวิตจริง แพลทฟอร์มการศึกษาใหม่ โดย DTAC ล่าสุด ดีแทคเดินหน้าสร้างวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกันภัยร้ายในโลกออนไลน์ให้กับเยาวชน
สูตรออนไลน์ “ห้องเรียนเด็กล้ำ” แพลตฟอร์มอีเลิร์นนิ่ง ที่นอกจากจะรวบรวมบทเรียนที่เน้นสร้างความเข้าใจและหาวิธีรับมือกับภัยร้ายในโลกออนไลน์แล้ว ยังมีบทเรียนที่ช่วยสร้างทักษะการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และการสร้าง data visualization เพื่อเป็นพื้นฐานสู่การเป็นแกนนำพลเมืองอินเทอร์เน็ตที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Netizen) และช่วยเปิดโลกทัศน์ให้เห็นโอกาสจากการใช้เทคโนโลยีอีกด้วย
“ห้องเรียนเด็กล้ำ” เปิดให้เข้าใช้งานแล้ววันนี้ เพียงลงทะเบียนเข้าเรียนผ่าน learn.safeinternet.camp สานต่อพันธกิจภายใต้โครงการ Safe Internet ก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 พร้อมชูหัวข้อความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่สังคมต้องให้ความสำคัญ หลังพบเยาวชนในกลุ่ม LGBTQ ตกเป็นเหยื่อจากการกลั่นแกล้งล้อเลียนกว่า 80%
“ห้องเรียนเด็กล้ำ ถูกออกแบบมาเพื่อให้ความรู้และทักษะที่ไม่มีในระบบการศึกษาตามหลักสูตรสามัญ หากแต่มีความสำคัญกับการใช้ชิวิตของเด็กและเยาวชน ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อวันโดยเฉลี่ย ดีแทคกำหนดเป้าหมายว่า เมื่อเยาวชนได้ผ่านการเรียนใน ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ แล้ว จะต้องมีทักษะและความสามารถในการวิเคราะห์ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเอง และบุคคลรอบข้างที่กำลังตกประสบกับภัยร้ายบนโลกไซเบอร์
ไม่ว่าจะเป็นการถูกด่าทอ ประจาน หรือกลั่นแกล้ง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ การรับข่าวสารที่น่าเคลืบแคลงสงสัย หรือเนื้อหาที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม รวมไปถึง การถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว เยาวชนจะต้องรู้วิธีรับมือ และสามารถช่วยเหลือเพื่อนและสมาชิกครอบครัวเมื่อประสบกับภัยออนไลน์ดังกล่าวได้อย่างมีสติ ยิ่งไปกว่านั้น ดีแทคคาดหวังว่า ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ จะช่วยให้เยาวชนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองให้กลายเป็นผู้นำต้นแบบของเพื่อนๆและเยาวชนคนอื่นในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างมีความรับผิดชอบและชาญฉลาด เพื่อสร้างโอกาสในชีวิตอนาคต”
หลักสูตรใน ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง คือ หลักสูตรการสร้างทักษะในการแยกแยะภัยในโลกออนไลน์ผ่านระบบการคิดเชิงวิพากษ์ และวิธีรับมืออย่างเป็นระบบ รวมทั้ง แนวทางปฏิบัติตนที่เหมาะสมในโลกออนไลน์ เพื่อสร้างให้เยาวชนมีความพร้อมที่จะเป็นพลเมืออินเทอร์เน็ตที่มีความรับผิดชอบ
- Online Privacy & Sexual abuse เรียนรู้เรื่องลักษณะของข้อมูลส่วนบุคคล ความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคล เรียนรู้เรื่องการละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
- Diversity Respect to Stop Cyber Bullying เริ่มต้นจากการทำแบบสอบถาม เพื่อให้เข้าใจถึงความหลากหลายในสังคม จนเกิดทัศนคติที่ดีต่อความแตกต่าง เกิดความเคารพ และยั้งคิดก่อนที่จะกลั่นแกล้งผู้อื่นให้เกิดความอับอายหรือเสียหาย หลักสูตรนี้เป็นผลมาจากการวิจัยและศึกษาของดีแทคเกี่ยวกับการกลั่นแกล้งล้อเลียนในโลกไซเบอร์ในกลุ่มเด็กนักเรียนในระดับมัธยมต้น – ปลายที่พบว่า กลุ่มที่ตกเป็นเหยื่อในการกลั่นแกล้งรังแกมากที่สุดคือ นักเรียนที่เป็น LGBTQ เรื่องที่ล้อเลียนส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวความแตกต่าง โดยเฉพาะความแตกต่างทางเพศ โดยงานวิจัยดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่า เยาวชนที่เป็น LGBTQ กว่า 80% เคยถูกล้อเลียน โดยเฉลี่ยจะถูกกระทำสัปดาห์ละครั้งและสถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่ก็คือ ห้องเรียนของเด็กเอง
- Anatomy of Fake News เรียนรู้ความหมายและองค์ประกอบต่างๆ ของข่าวปลอม วิธีและเครื่องมือที่สามารถใช้ในการแยกแยะ และระบุข่าวปลอม
และหลักสูตรในส่วนที่สอง คือ หลักสูตรที่สอนให้เยาวชนใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลที่กำลังทวีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนโลก อาทิ แชทบอท ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) การแสดงผลข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualization) เทคนิคการเล่าเรื่อง (Story Telling) และการสร้างบอร์ดเกม ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เด็กเยาวชนยุคใหม่ควรเรียนรู้ เพิ่มทักษะสู่การเป็นพลเมืองยุคดิจิทัลในศตวรรษที่ 21 นี้ต่อไป
นอกจาก แพลตฟอร์ม ‘ห้องเรียนเด็กล้ำ’ แล้ว ดีแทคมีแผนที่จะนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์สำหรับบุคลากรครูและอาจารย์ที่ทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำแก่นักเรียนที่มีความเสี่ยงหรือกำลังประสบกับภัยออนไลน์ ทั้งนี้ ผลการวิจัยและศึกษาของดีแทค พบว่า เยาวชนที่ตกเป็นเหยื่อภัยออนไลน์เลือกที่จะขอคำปรึกษาหรือขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในวัยเดียวกัน เป็นทางเลือกอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็น พี่ น้อง ส่วนคุณครูกับผู้ปกครองเป็นกลุ่มสุดท้าย เมื่อถามในเชิงลึกจริงๆ ว่า เพราะเหตุใดจึงเลือกให้คุณครูอยู่ในกลุ่มสุดท้าย นักเรียนกลุ่มตัวอย่างตอบว่า เขาไม่ได้รังเกียจหรือไม่ชอบคุณครู กลับกันเขาอยากให้คุณครูเป็นที่พึ่งที่แรกด้วยซ้ำ เพียงแต่ในความคิดของนักเรียน คือครูอาจไม่สามารถช่วยเหลือได้ หรือคิดไปว่าคุณครูไม่ช่วยเหลือเขาเพราะนักเรียนคนนั้นไม่ใช่ลูกศิษย์ที่รัก และอีกประเด็นคือคุณครู ‘ไม่เข้าใจ’ สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ และโซเชียลเน็ตเวิร์กที่พวกเด็กๆ ใช้งานกัน
ขอบคุณที่มาของข่าว