กพฐ. ชี้หลักสูตรใหม่ ทันใช้นำร่อง กลุ่มโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก่อน ปี กศ.63 และจะใช้จริงทั่วประเทศ ปี กศ.65 เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม กพฐ.ว่า ที่ประชุมหารือเรื่องการพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่จะมาแทนหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550 โดยจะบรรจุพระบรมราโชบายด้านการศึกษา ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และเป้าหมายการศึกษาชาติ รวมถึงกำหนดสมรรถนะเด็ก 6 ด้าน ประกอบด้วย การจัดการตนเอง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง และการเป็นพลเมืองที่เข็มแข็ง ซึ่งใน 6 สมรรถนะนี้ โครงสร้างหลักสูตรจะกำหนดไว้ว่าถ้าต้องการให้เด็กมีสมรรถนะด้านไหน เด็กควรจะมีการเรียนรู้อะไรบ้าง ซึ่งการเรียนรู้จะปรับเปลี่ยนไปด้วย หลังจากนี้ในต้นเดือนมกราคม 2563 ที่ประชุมกพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะนำโครงสร้างหลักสูตรเสนอเพื่อขอความคิดจากนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) หากเห็นด้วย สพฐ.จะใส่รายละเอียดหลักสูตรฐานสมรรถนะ ใน 6 สมรรถนะต่อไป เพื่อให้เสร็จทันนำร่องใช้ในปีการศึกษา 2563 ในกลุ่มโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก่อน และจะใช้จริงทั่วประเทศในปีการศึกษา 2565 ทั้งนี้ เนื้อหาที่จะถูกกำหนดในแต่ละกลุ่มสมรรถนะจะไม่เน้นเนื้อหาวิชา ต่อไปจะเน้นการเรียนแบบสมรรถนะแทน
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้หารือในประเด็นการทดสอบเช่นกันว่าข้อสอบของการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต จะต้องเป็นไปตามหลักสูตรใหม่เช่นกัน คือ ควรเน้นสมรรถนะมากกว่าเน้นเนื้อหาวิชาการ ทั้งนี้ก่อนปรับใช้หลักสูตรใหม่ในปีการศึกษา 2565 ระหว่างนั้น น่าจะมีการปรับเปลี่ยนข้อสอบโอเน็ตบางส่วนที่สามารถเน้นสมรรถนะได้ด้วย นอกจากนี้ที่ประชุมหารือว่าไม่ควรจะใช้คะแนนโอเน็ตมาประเมินเด็ก ครูและผู้บริหาร แต่ควรใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเด็กแทน
“ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การสร้างหลักสูตรใหม่นั้น ไม่ยากเท่ากับการพัฒนาครู ดังนั้นในอนาคตมหาวิทยาลัยตามภูมิภาค น่าจะเป็นกลุ่มที่จะดูแลพัฒนาครูให้มีความชำนาญในการการสอนหลักสูตรใหม่ด้วย” นายเอกชัยกล่าว
ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ หลายคนกังวลว่าจะเตรียมครูเพื่อรองรับการใช้หลักสูตรใหม่อย่างไร ทาง สพฐ.ได้หารือกับผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ซึ่งทาง อว.ยินดีที่ให้มหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยพัฒนาครูเพื่อรองรับหลักสูตรใหม่ และทาง สพฐ.มีศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (อีริค) ประจำอยู่ตามจังหวัดต่างๆ จะถูกเปลี่ยนเป็นศูนย์ในการพัฒนาครูเพื่อรองรับการสอนหลักสูตรใหม่ โดยที่ครูจะไม่เสียเวลาเดินทางไปอบรมไกลถึงต่างจังหวัด
ขอบคุณเนื้อหาข่าว : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 13 ธันวาคม 62