กางแผนปฏิรูปการศึกษาชาติ จี้ศธ.ปรับระบบผลิต-พัฒนาครู เร่งโรดแมป ‘5บิ๊กร็อก’ ขีดเส้นก.ย.
นางประพันธ์ศิริ สุเสารัจ นายกสมาคมการศึกษาแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ที่มี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เป็นประธาน เมื่อเร็วๆ นี้มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายผู้บริหารสถานศึกษาและได้อนุมัติกรอบอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ที่กำหนดใหม่โดยไม่มีการเพิ่มอัตรากำลังและไม่เพิ่มงบประมาณรวมถึงเห็นชอบปรับปรุงแนวปฏิบัติการคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาเป็นครู กรณีผู้สอบแข่งขันหรือผู้สมัครคัดเลือกเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้าเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยนั้น นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่สะสมมายาวนานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม
โดยเฉพาะกรณีที่มีการกำหนดให้ ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปี ต้องมีการศึกษาเนื้อหาวิชาที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับวิชาที่สอน ไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต ขณะเดียวกันผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี 2 ปี หลักสูตรต่อเนื่อง ต้องศึกษาเนื้อหาที่ตรงหรือเกี่ยวข้องกับวิชาที่สอนในระดับปริญญาตรีไม่น้อยกว่า 20 หน่วยกิต และในระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่าได้ไม่เกิน 10 หน่วยกิต รวมแล้วไม่น้อยกว่า 30 หน่วยกิต โดยให้นับจำนวนหน่วยกิตจากรายวิชาที่ศึกษาตาม Transcript ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จ การศึกษาทุกคุณวุฒิ ทุกสาขาวิชาที่ ก.ค.ศ.รับรองสามารถนำหน่วยกิตมาใช้สมัครเพื่อสอบแข่งขันหรือคัดเลือกได้นั้น
ทั้งหมดนี้ถือว่าสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน 5 เรื่อง หรือ 5 Big Rock ได้แก่ 1.การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา 2.การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ 3.การปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน 4.การจัดการอาชีวศึกษา ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบนำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน และ 5.การปฏิรูปบทบาทการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2565
“สำหรับแผนการปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน มีสองส่วนคือ การผลิตครู มีแผนการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้ เร่งปรับรูปแบบ กระบวนการคัดเลือกครูและนิสิต/นักศึกษาครู ที่มีประสิทธิภาพ เที่ยงตรง และลดความเหลื่อมล้ำปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูที่เป็นเลิศและปรับปรุงรูปแบบกระบวนการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูตามความต้องการและความจำเป็นตามบริบทของสาขาวิชาและพื้นที่ และพัฒนากรอบมาตรฐานและตัวชี้วัดสมรรถนะอาจารย์ประจำในสถาบันผลิตครู และครูพี่เลียงในโรงเรียนหรือสถานฝึกประสบการณ์วิชาชีพด้านวิชาชีพครู และส่วนที่สองคือการพัฒนาครู
มีแผนการดำเนินการที่สำคัญ คือ พัฒนากรอบมาตรฐานสมรรถนะวิชาชีพครูทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีวศึกษาที่เน้นให้ครูมีความพร้อมทั้งทางด้านวิชาการ เชี่ยวชาญวิชาชีพ ดำเนินการพัฒนาการวัดและประเมินคุณภาพครูตามมาตรฐานวิชาชีพทั้งระบบ สร้างระบบกลไกให้ครูและผู้บริหารมีการพัฒนาทางวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง และปรับปรุงระบบกลไกการพัฒนาและเลื่อนวิทยฐานะครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้งหมดนี้จะต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งมติ ก.ค.ศ.ครั้งนี้ถือว่าเริ่มมีการดำเนินการที่ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปการศึกษาในหลายด้าน สอดคล้องกับเป้าหมายที่วางไว้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณและอัตรากำลังเพิ่มแต่อย่างใด”นางประพันธ์ศิริกล่าว
ขอบคุณที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 – 10:00 น.