การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรทางการศึกษา
(28 กันยายน 2565) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางสาวตรีนุช เทียนทอง) ตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง) กระทู้ถามที่ 476 ร. ในราชกิจจานุเบกษา เรื่อง ปัญหาการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก และการจัดสรรงบประมาณด้านบุคลากรทางการศึกษา
1 กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายและมาตรการในการควบคุมและยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กให้เหมาะสมและสอดคล้องกับพื้นที่ พร้อมทั้งรักษามาตรฐานคุณภาพการศึกษาให้อยู่ในเกณฑ์อย่างไร
กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานขอเรียนว่า ได้มีนโยบายในการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คนลงมา เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งได้มีมาตรการในการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2562 ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ให้ดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรและการบริหารจัดการ โดยการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องเป็นโรงเรียนที่มีระยะห่างจากโรงเรียนในตำบลเดียวกันไม่เกิน 6 กิโลเมตร ไม่กระทบต่อสิทธิของนักเรียน ครู ผู้อำนวยการโรงเรียน ประชาชน และชุมชน
ซึ่งการยุบหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องผ่านความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และเป็นไปตามความสมัครใจ ความพร้อมของโรงเรียน รวมถึงสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือ เลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2550 ตลอดจนได้สนับสนุนค่าพาหนะให้กับนักเรียนที่มาเรียนรวมจนจบการศึกษาในระดับชั้นสูงสุดของโรงเรียนหลักอีกด้วย
สำหรับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาหลังการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะทำให้เกิดคุณภาพ ดังนี้
ด้านคุณภาพผู้เรียน มีการจัดสรรอัตรากำลังครูให้ครบชั้น ครบวิชา ตรงตามสาขาวิชา อาคารสถานที่มีมาตรฐาน ความปลอดภัย และมีสื่อการเรียนการสอนและเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ เพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางวิชาการของนักเรียน รวมถึงพัฒนาผู้เรียนให้มีค่านิยมและวัฒนธรรมอันดีของสังคม
ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ มีการกำหนดเป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพภายใต้สภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคม ที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพตามหลักสูตรสถานศึกษา และส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาครู และบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพ รวมทั้งมีการจัดทำแผนการบริหารจัดการที่พร้อมรองรับนักเรียนที่มาเรียนรวม เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน
ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน ดำเนินการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และส่งเสริมการสร้างโอกาสให้ผู้เรียนทุกคนให้มีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 รวมถึงทักษะชีวิตที่นำไปประกอบอาชีพได้เมื่อจบหลักสูตร ตลอดจนเกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทชุมชน/ท้องถิ่น และมีการประเมินตรวจสอบความรู้ของผู้เรียนอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
2 กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายในการจัดการและแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ถูกทิ้งรกร้างหลังการยุบรวมอย่างไร มีการมอบหมายให้หน่วยงานใดรับผิดชอบ
กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีนโยบายในส่วนการบริหารงานพัสดุของโรงเรียนขนาดเล็กหลังการควบรวม ดังนี้
วัสดุ ครุภัณฑ์ โอนให้โรงเรียนหลัก หรือจำหน่ายตามสภาพของวัสดุ ครุภัณฑ์
ที่ดินของโรงเรียน
– โรงเรียนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่น ให้ดำเนินการตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครอง และเอกสารสิทธิ์ พร้อมทั้งรายงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อประสานงานกับส่วนราชการ/หน่วยงานเจ้าของที่ดินในการดำเนินการตามกฎหมายเฉพาะของส่วนราชการ/หน่วยงานเจ้าของที่ดินนั้น ๆ
– โรงเรียนที่ได้รับการบริจาคที่ดิน ให้ตรวจสอบสภาพการถือกรรมสิทธิ์ เอกสารสิทธิ์ รายงานต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา กรณีการโอนที่ดิน ให้โอนให้กับโรงเรียนหลัก สำหรับกรณีจำหน่ายต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการบริหารจัดการและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2546
– โรงเรียนที่ขอใช้พื้นที่ราชพัสดุ ให้ดำเนินการตรวจสอบสิทธิครอบครองหรือสิทธิการใช้เอกสารสำคัญการขอใช้การอนุญาต แล้วรายงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบ เพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562
ทรัพย์สินอื่น ให้ดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
เอกสารสำคัญ ให้โอน ให้โรงเรียนหลัก
ทั้งนี้ เมื่อมีการควบรวมโรงเรียนแล้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะแจ้งให้โรงเรียนตรวจสอบทรัพย์สิน ชำระบัญชี และดำเนินการโอนหรือจำหน่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
นอกจากนั้น ยังได้ประสานกับหน่วยงานอื่นเพื่อประชาสัมพันธ์ให้สามารถขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่โรงเรียนให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ตามความต้องการของชุมชน เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฯลฯ
3 กระทรวงศึกษาธิการ มีนโยบายในการทบทวนและแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณในการว่าจ้างครูผู้ช่วยและนักการภารโรงซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความจำเป็นต่อโรงเรียนขนาดเล็ก และเป็นการส่งเสริมการจ้างงานในพื้นที่หรือไม่ อย่างไร
กระทรวงศึกษาธิการ ขอเรียนว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาเรื่องงบประมาณการจ้างครูอัตราจ้างและนักการภารโรง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้จัดสรรงบประมาณค่าจ้าง ตำแหน่งครูอัตราจ้าง จำนวน 5,907 อัตรา เป็นเงินจำนวน 1,116,423,000 บาท และตำแหน่งนักการภารโรง จำนวน 11,132 อัตรา เป็นเงินจำนวน 1,262,368,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,2378,791,800 บาท ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้โรงเรียนมีบุคลากรเพียงพอและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา รวมถึงเป็นการส่งเสริมการจ้างงานคนในพื้นที่
ทั้งนี้ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ได้ดำเนินการขอตั้งรายการค่าจ้าง ตำแหน่งครูอัตราจ้าง และนักการภารโรง ให้แก่โรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อให้มีบุคลากรสนับสนุนการปฏิบัติงานของครูในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา