การจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านฟรีทีวี 17 ช่อง เริ่มออกอากาศ 18 พ.ค.นี้ ในระบบ SD ทางช่องหมายเลข 37-53
การจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านฟรีทีวี 17 ช่อง เริ่มออกอากาศ 18 พ.ค.นี้ ในระบบ SD ทางช่องหมายเลข 37-53

การจัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านฟรีทีวี 17 ช่อง เริ่มออกอากาศ 18 พ.ค.นี้ ในระบบ SD ทางช่องหมายเลข 37-53 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ (DLTV) และ กสทช. จัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านฟรีทีวี 17 ช่อง ครอบคลุมทุกระดับชั้น “การศึกษาขั้นพื้นฐาน-อาชีวศึกษา-กศน.” เริ่มออกอากาศ 18 พฤษภาคมนี้ ในระบบ SD ทางช่องหมายเลข 37-53

(14 พฤษภาคม 2563) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) พร้อมด้วยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ร่วมแถลงข่าว “การจัดการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ชั้น 3 อาคารรัชมังคลาภิเษก กระทรวงศึกษาธิการ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ศธ.จึงประกาศเลื่อนวันเปิดเทอมจากช่วงเดือนพฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ขณะเดียวกัน ศธ.ให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องในการเรียนรู้ ภายใต้แนวคิด “แม้ว่าโรงเรียนหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้”

ศธ. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรอบด้าน เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และทำให้การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าการเรียนรู้ที่โรงเรียนยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้ สื่อการเรียนการสอนทางไกล (On Air) ผ่านฟรีทีวีทั้ง 17 ช่อง จะเป็นสื่อหลักในการจัดการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการใช้สื่อออนไลน์ (Online) ทั้งในส่วนของแพลตฟอร์มที่ ศธ.ได้พัฒนาขึ้น และการจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนจำลอง (Virtual Classroom) ส่วนเรื่องตารางเรียนขณะนี้ยึดตามตารางเรียนของ DLTV โดยโรงเรียนต่าง ๆ จะไปปรับตามความเหมาะสมในแต่ละชั้นเรียน หรือบริบทของโรงเรียน ก็สามารถทำได้ทันที

ขณะนี้เท่าที่ตรวจสอบ ต้องขอชื่นชมครูหลายโรงเรียนที่มีการเตรียมความพร้อมอยู่พอสมควร และทำการบ้านอย่างเข้มข้น ทำให้มีข้อมูลที่ชัดเจนแล้วว่า ศธ.ต้องทำอะไร เตรียมพร้อมด้านใด มีค่าใช้จ่ายงบประมาณอย่างไร ซึ่งงบประมาณของ ศธ.เตรียมไว้เพียงพอ โดยได้ตัดงบประมาณหลายส่วนเพื่อเตรียมการต่อสู้กับ COVID-19 ให้การขับเคลื่อนการศึกษาเป็นไปตามมาตรฐานพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อเตรียมตัวฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป จะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยปรับงบประมาณของปี 2564 เพราะเชื่อว่าหลังวิกฤตครั้งนี้ น่าจะทำให้มีคนสนใจเข้ามาลงทุน หรือเข้ามาท่องเที่ยว ซึ่งประเทศไทยก็ต้องมีทรัพยากรบุคคลที่พร้อมในการเสริมความแข็งแกร่งของประเทศให้ได้

ด้านความช่วยเหลือนักเรียนในการเรียนผ่านทีวี ศธ.ต้องพิจารณาหลังวันที่ 18 พฤษภาคม โดยเชื่อว่าจะมีเด็กบางส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ เช่น ตัวเชื่อมต่อทีวี หรือในกลุ่มเด็กโต อาจต้องการช่องทางเสริมในการเรียนออนไลน์ ซึ่งเบื้องต้นมีข้อมูลว่านักเรียนในกรุงเทพฯ น่าจะมีความต้องการ Digital TV Box ประมาณ 300,000 เครื่อง เพื่อรองรับการเรียนการสอนทางทีวีดิจิตอล โดย ศธ. กสทช. และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เตรียมเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อตอบสนองความขาดแคลนหรือความจำเป็น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดีขึ้น จนสามารถเปิดเรียนตามปกติได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม ยังจะต้องมีมาตรการที่เข้มข้น เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 เช่น การล้างมือสม่ำเสมอ การใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การรักษาระยะห่างทางสังคมในห้องเรียน ทั้งนี้อาจจะต้องให้นักเรียนสลับกันมาเรียนเป็นผลัดในแต่ละชั้นเรียน ตามการบริหารจัดการของแต่ละโรงเรียน รวมถึงรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขด้วย

ยืนยันว่าขณะนี้ ศธ.มีความพร้อมสำหรับการเรียนทางไกลในทุกสื่อ ทุกชั้นเรียน และทุกสาระวิชา ในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้ เด็กไทยทุกคนจะได้รับการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน และเสริมด้วยความรู้ด้านอื่นตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียนต่อไป

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มูลนิธิฯ ได้ให้ความสำคัญกับระบบการศึกษาของประเทศ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศไทย และด้วยพระอัจฉริยภาพ พร้อมด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่10) ทรงสืบสานโครงการการศึกษาทางการผ่านดาวเทียมของมูลนิธิฯ

ในการนี้ DLTV จึงได้ร่วมมือกับ ศธ.และ กสทช. ในการจัดการเรียนผ่านทีวี ดังนี้

  1. DLTV สนับสนุนเนื้อหาทั้งหมด ของชั้นอนุบาล 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งขณะนี้ได้ Upload ไว้ให้ใช้งานเรียบร้อยแล้ว ทำให้ครูสามารถเข้าไปดูเนื้อหาและเตรียมการสอนได้ทันที ตลอดจนเด็กโตก็สามารถเข้าไปศึกษาล่วงหน้าก่อนได้
  2. DLTV ให้ ศธ.ใช้ 3 ช่อง (เดิมเป็นช่องสอนอาชีพ) เพื่อผลิตเนื้อหาการเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  3. DLTV จะนำเนื้อหาการจัดการเรียนการสอนของ ศธ. มาออกอากาศซ้ำในทุกช่วงเวลา
  4. DLTV ยินดีปรับตารางการออกอากาศ เนื้อหาการเรียนการสอนตามความต้องการของ ศธ.

พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีมติอนุญาตให้ ศธ.ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว ตามโครงการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อการศึกษาเป็นการชั่วคราว ให้ออกอากาศแบบความคมชัดปกติ (SD) ผ่านช่องสัญญาณ จำนวน 17 ช่อง (ช่องหมายเลข 37-53) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ศธ360องศา , มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ DLTV

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่