ครม.รับทราบการเตรียมความพร้อม การจัดการเรียนการสอน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2563
ครม.รับทราบการเตรียมความพร้อม การจัดการเรียนการสอน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2563

ครม.รับทราบการเตรียมความพร้อม การจัดการเรียนการสอน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 (21 เมษายน 2563) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ การเตรียมความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 โดยจะดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

1. ปฏิทินการรับนักเรียน                

1.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน                             

  • การรับนักเรียน โดยชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 รับสมัครระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ส่วนสถานศึกษาที่จัดการศึกษาพิเศษเพื่อเด็กพิการ และผู้ด้อยโอกาส รับสมัครระหว่างวันที่ 3-31 พฤษภาคม 2563
  • การสอบ/คัดเลือก ในห้วงเวลาเดือนมิถุนายน 2563
  • การจัดหาสถานศึกษาและการรับรายงานตัว/มอบตัว ของนักเรียนทุกคน จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563

1.2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (โรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษา)

  • การรับนักเรียน การสอบ/คัดเลือก และการประกาศผล ให้อยู่ในดุลพินิจของแต่ละโรงเรียน โดยต้องแล้วเสร็จก่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563
  • การรับนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งได้จัดทำระบบรับสมัครนักเรียนออนไลน์สำหรับภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2563 ให้โรงเรียนเอกชนในระบบประเภทสามัญศึกษาทั้งหมด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
  • การจัดประชุมชี้แจงทำความเข้าใจ การเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2563 โดยผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อให้โรงเรียนดำเนินการรับสมัครนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ได้ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563

1.3 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

สถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐและเอกชน สามารถดำเนินการรับสมัครนักเรียน นักศึกษาทั้งผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สถานศึกษา ดังนี้

  • ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ชั้นปีที่ 1 (ปวช.1) รับสมัคร ระหว่างวันที่ 3-12 พฤษภาคม 2563 ประกาศผลการสอบ/คัดเลือก วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และมอบตัว ระหว่างวันที่ 15 – 16 มิถุนายน 2563
  • ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ชั้นปีที่ 1 (ปวส.1) รับสมัคร ประกาศผลการสอบ/คัดเลือก และมอบตัว ให้สถานศึกษากำหนดตามความเหมาะสมและทันต่อการเปิดภาคเรียน

1.4 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

 การรับสมัครผู้เรียนใหม่และลงทะเบียนเรียนผู้เรียนเก่า ดำเนินการโดยผ่านระบบออนไลน์ หรือสมัครด้วยตนเองที่สถานศึกษา ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 16 พฤษภาคม 2563

2. การจัดการเรียนการสอนระบบทางไกล และอุปกรณ์ทางการสื่อสาร

2.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ระยะที่ 1 การเตรียมความพร้อม (7 เมษายน – 17 พฤษภาคม 2563)

  1. สำรวจความพร้อมในด้านอุปกรณ์การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ของนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และระบบการบริหารจัดการการเรียนการสอน
  2. ขออนุมัติใช้ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  3. ขออนุมัติเผยแพร่การเรียนการสอนจากห้องเรียนต้นทาง ในระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์
  4. จัดทำสื่อวีดิทัศน์การสอน โดยครูต้นแบบ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
  5. รวบรวมสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ใน OBEC Content Center ชุดโปรแกรมและแพลตฟอร์มการเรียนรู้ครบวงจรของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น Tutor ติวฟรี.com, e-Book เป็นต้น
  6. เตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบเครือข่าย เพื่อรองรับการให้บริการ แพลตฟอร์มการเรียนรู้ให้เชื่อมโยงกับระบบ Digital e-Learning ของกระทรวงศึกษาธิการ

ระยะที่ 2 การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล (18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563)

  1. ทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล ดังนี้ (1) ระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการเผยแพร่สัญญาณจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) ทั้งนี้ ระดับปฐมวัยเน้นกิจกรรมเตรียมความพร้อมเด็ก และระดับประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ (2) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลและระบบออนไลน์โดยครูต้นแบบ ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา
  2. เปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นการเรียนการสอนทางไกล จากผู้ปกครอง ประชาชน และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางการปรับปรุงและพัฒนา
  3. ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ แนะนำช่องทางการเรียนทางไกลให้กับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้อง

ระยะที่ 3 การจัดการเรียนการสอน (1 กรกฎาคม 2563 – 30 เมษายน 2564)

สำหรับ 2 สถานการณ์ ดังนี้

  1. สถานการณ์ที่ 1 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid – 19) ไม่คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัยถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ด้วยระบบทางไกลผ่าน DLTV และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ด้วยวีดิทัศน์การสอนโดยครูต้นแบบ และระบบออนไลน์ด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ตามความเหมาะสมและบริบทของสถานศึกษา
  2. สถานการณ์ที่ 2 กรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid–19) คลี่คลาย จะจัดการเรียนการสอนปกติในโรงเรียน โดยให้เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และมีแผนเตรียมการเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ โดยจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

ระยะที่ 4 การทดสอบและการศึกษาต่อ (1 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2564)

โดยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบและคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ ได้แก่ (1) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เกี่ยวกับระบบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS GAT PAT)               (2) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ เกี่ยวกับการทดสอบ O-net ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3  และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6

2.2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

  1. ประสานงานขอความร่วมมือกับโรงเรียน หรือหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านสื่อการเรียนการสอนหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้สำหรับจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้โรงเรียนเอกชนใช้จัดการเรียนการสอนได้ตามเงื่อนไขที่แต่ละหน่วยงานกำหนด และโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
  2. อยู่ระหว่างจัดทำสารบัญกลุ่มสาระการเรียนรู้จำแนกตามระดับชั้นและตัวชี้วัดเพื่อการเชื่อมต่อไปยังสื่อการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องซึ่งอยู่ในคลังข้อมูลที่ได้จัดทำขึ้น ให้แล้วเสร็จภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2563
  3. จัดทำเว็บไซต์ที่ใช้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยง ไปยังข้อ 1 และข้อ 2 

2.3 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

  1. ดำเนินการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ ดังนี้ (1) เตรียมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เชื่อมโยง Platform กับกระทรวงศึกษาธิการ (2) เตรียมระบบ Cloud Computing (3) พัฒนาคลังความรู้ทางวิชาชีพบนระบบ Cloud และ (4) อยู่ระหว่างประสานงานเพื่อขอสนับสนุนช่องสัญญาณทีวีระบบดิจิทัลเพิ่มเติม จากเดิมที่มี DLTV ช่อง 13 (ถ่ายทอด 3 วัน/สัปดาห์)  ไปยังมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์
  2. จัดการเรียนการสอนออนไลน์ในสถานศึกษาภาครัฐและเอกชน มี 4 แนวทาง ดังนี้ (1) ใช้แบบเรียนหรือเอกสารประกอบการสอนที่บ้าน โดยครูผู้สอนมีระบบออนไลน์ที่ติดต่อถึงผู้เรียนได้หลากหลายช่องทาง (2) ใช้ชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ซึ่งมีรูปแบบเหมือนกับ DLTV โดยครูผู้สอนสามารถสื่อสารถึงผู้เรียนผ่านสื่อได้หลายช่องทาง อาทิ โทรทัศน์ YouTube เป็นต้น (3) ใช้ระบบการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ของสถานศึกษา ได้แก่ (3.1) ประยุกต์ใช้แอปพลิเคชันที่สถานศึกษาสร้างขึ้น หรือที่มีใช้แพร่หลายในสังคมออนไลน์ รวมถึงการผลิตบทเรียนออนไลน์ด้วยตนเอง และ (3.2) ใช้ห้องเรียนที่มีระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของสถานศึกษา ซึ่งสามารถจัดการเรียนการสอนแบบ Realtime ได้ และ (4) ในบางสาขาวิชาที่ขาดแคลนครูผู้สอนหรือต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการสอน อาทิ ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ช่างเทคนิคระบบขนส่งทางราง อาจเรียนโดยการรับชมการถ่ายทอดสดการจัดการเรียนการสอน (Live) ผ่านศูนย์การสอนออนไลน์ของสถานศึกษาแม่ข่าย (วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง และศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและกำลังคนอาชีวศึกษา)

2.4 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

  1. จัดการเรียนรู้ด้วยวิธีเรียน กศน. แบบออนไลน์ โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ (1.1) แอปพลิเคชัน ONIE Online (1.2) ETV และทีวีระบบดิจิทัล ช่อง 37 (1.3) http://www.ETVThai.tv และ http://www.ceted.org และ (1.4) โปรแกรมการสื่อสารอื่น ๆ เช่น Line, Google Classroom, Microsoft Teams, Zoom Meeting, E-book เป็นต้น รวมทั้งพบปะครูผู้สอนตามความเหมาะสมของเนื้อหาวิชา และบริบทพื้นที่
  2. จัดช่องทางการเรียนรู้ ได้แก่ (2.1) ทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV และทีวีระบบดิจิทัล ช่อง 37 ออกอากาศคู่ขนานพร้อมกันทุกวัน เวลา 06.00 น. – 24.00 น. โดยปรับตารางออกอากาศในเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อสนับสนุนสื่อสำหรับในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งกำหนดช่องทางออกอากาศ ได้แก่ GMMz ช่อง 185, DTV ช่อง 252, PSI ช่อง 110, True ช่อง 371 และ (2.2) ทางแอพพลิเคชั่น ONIE Online
  3. ดำเนินการวัดและประเมินผล โดยจัดสอบด้วยข้อสอบกลางสำหรับนักศึกษา กศน. ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งในรูปแบบข้อสอบและจัดสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามศูนย์ทดสอบอำเภอ จำนวน 148 แห่งทั่วประเทศ

3. การเตรียมความพร้อมสำหรับครู

3.1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

พัฒนาครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับการเรียนการสอนทางไกล ดังนี้ (1) จัดทำคู่มือแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลสำหรับครู บุคลากรทางการศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง (2) ให้ความรู้ในการใช้เครื่องมือ เทคนิคและวิธีการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านช่องทาง DLTV และ OBEC Channel และ (3) นิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการเรียนการสอนทางไกล

3.2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

จัดฝึกอบรมครูให้สามารถใช้โปรแกรมที่มีอยู่อย่างแพร่หลายให้แล้วเสร็จประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2563 และใช้โปรแกรมจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่อยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนพฤษภาคม 2563

3.3 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

  1. ดำเนินการพัฒนาครู โดย (1.1) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเพื่อพัฒนาครูอาชีวศึกษาให้สร้างบทเรียนออนไลน์ สื่อการสอน เทคนิควิธีสอน และการประเมินผลที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยกำหนดบทบาทครูเป็น 3 กลุ่ม คือ  Excellent TeacherMentor Teacherและ Network Teacher และ (1.2) พัฒนาทักษะการใช้โปรแกรม ที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ เพื่อให้ครูสามารถพัฒนาบทเรียนออนไลน์ได้ตามความสนใจ
  2. การพัฒนาชุดการเรียนออนไลน์ (Online Course) ทุกรายวิชาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษากำหนด สำหรับระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ ซึ่งสถาบันการอาชีวศึกษากำหนด 

3.4 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.)

ดำเนินการเตรียมความพร้อม ได้แก่ (1) การชี้แจงผู้เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับจังหวัด และผู้บริหารระดับอำเภอ (2) การอบรมครู ประกอบด้วย การจัดการเรียนรู้ผ่านระบบทางไกล และการสร้างแบบทดสอบแบบออนไลน์ (3) การชี้แจงนักศึกษา และ (4) การจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบทางไกล

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่