ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2562 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอว่า เนื่องจากมาตรการส่งเสริม “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมฯ) และมาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ “ชิมช้อปใช้” (มาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ) ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงมีความจำเป็นต้องขยายการดำเนินมาตรการและปรับปรุงวิธีดำเนินมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เพื่อให้มาตรการส่งเสริมชิมช้อปใช้ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคชิมช้อปใช้ ที่จะสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินมาตรการในวันที่ 31 ธ.ค. 2562 มีความต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงเสนอการขยายการดำเนินมาตรการและปรับปรุงวิธีดำเนินมาตรการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยสาระสำคัญ ได้แก่
1.มาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชนรวมจำนวนไม่เกิน 13 ล้านคน (มาตรการส่งเสริมฯ ไม่เกิน 10 ล้านคน และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ไม่เกิน 3 ล้านคน) โดยผู้ลงทะเบียนจะได้รับสิทธิประโยชน์เพื่อการใช้จ่ายในจังหวัดที่เลือกที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน ผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ (g-Wallet) ดังนี้
1.1 รัฐบาลสนับสนุนวงเงินสำหรับ g-Wallet ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง ช่อง 1” (g-Wallet ช่อง 1) จำนวน 1,000 บาทต่อคน เพื่อเป็นสิทธิในการซื้อสินค้าและบริการในจังหวัดที่เลือกไว้เมื่อตอนลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน”
1.2 กรณีที่ผู้ลงทะเบียนเติมเงินเข้าบัญชี g-Wallet ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง ช่อง 2” (g-Wallet ช่อง 2) เพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าที่พัก รวมถึงบริการต่าง ๆ ตามปกติของที่พักนั้น ค่าซื้อสินค้าท้องถิ่น ค่าซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าประชารัฐ หรือค่าบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทางในท้องถิ่นนั้น เช่น สปา การเช่าพาหนะ ค่าบริการนำเที่ยวในพื้นที่ เป็นต้น ในจังหวัดที่ไม่ใช่จังหวัดตามทะเบียนบ้าน กับผู้ประกอบการที่ลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กรมบัญชีกลางกำหนด และติดตั้งแอพพลิเคชัน “ถุงเงิน” รัฐบาลจะสนับสนุนเงินชดเชยเข้าบัญชี g-Wallet ช่อง 2 ดังนี้
(1) เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 15 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,500 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน)
(2) เงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 20 ของยอดชำระเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน สำหรับวงเงินใช้จ่ายในส่วนที่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน (วงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 20,000 บาทต่อคน)
ทั้งนี้การซื้อสินค้าและบริการตามข้อ 1.1 และ 1.2 ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด อนึ่งมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2562
1. ความคืบหน้าการดำเนินมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ มีผู้ได้รับสิทธิ์
12,901,825 ล้านคน สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 6 พ.ย. 2562 มีผู้ใช้สิทธิ 10,942,486 คน มียอดใช้จ่ายรวม 11,335 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 10,732 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 981 บาท สำหรับการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ 81,656 คน มียอดใช้จ่ายประมาณ 603 ล้านบาท หรือเฉลี่ยคนละ 7,385 บาท
2. ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้มีการติดตามการดำเนินมาตรการ รวมทั้งตรวจสอบความผิดปกติจากการรับชำระเงินด้วยแอพพลิเคชั่น “ถุงเงิน” โดยมีคำสั่งที่ 1458/2562 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานประเมินผลและความคุ้มค่าของมาตรการส่งเสริมฯ “ชิมช้อปใช้” (คณะทำงานฯ) ลงวันที่ 16 ต.ค. 2562 และในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 ที่ประชุมได้รับทราบแนวทางการประเมินผลและความคุ้มค่าของมาตรการรวมทั้งได้รับทราบการดำเนินการเบื้องต้นกรณีพบความผิดปกติในการทำธุรกรรมภายใต้มาตรการดังกล่าว และมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานย่อยด้านการประเมินผลความคุ้มค่ามาตรการ “ชิมช้อปใช้” เพื่อประเมินผลการดำเนินการและความคุ้มค่าของมาตรการ “ชิมช้อปใช้”และคณะทำงานย่อยด้านกฎหมาย เพื่อติดตามตรวจสอบร้านค้ากรณีพบความผิดปกติจากการรับชำระเงินให้ดำเนินการสั่งระงับการจ่ายเงินและตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติดังกล่าว
3. เนื่องจากยังมีประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมมาตรการอีกเป็นจำนวนมากที่พร้อมจะจับจ่ายใช้สอยแต่ยังไม่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการได้ กระทรวงการคลังจึงเสนอแนวทางการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ เพิ่มเติม ดังนี้
3.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่าน g-Wallet ช่อง 2โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพในการใช้จ่าย
3.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนสัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ลงทะเบียน และมีบัตรประจำตัวประชาชน จำนวนไม่เกิน 2 ล้านคน โดยจะกันสิทธิบางส่วนสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปในวันลงทะเบียน ตามเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
3.3 ระยะเวลามาตรการ: ขยายระยะเวลาดำเนินมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2563
3.4 วิธีดำเนินมาตรการ:
(1) ขยายการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ สำหรับประชาชน โดยรัฐบาลจะเสนอเฉพาะเงินชดเชดสำหรับการใช้จ่ายผ่าน g-Wallet ช่อง 2
(2) การใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการผ่าน g-Wallet ช่อง 2 ตามมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ ให้สามารถใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด รวมทั้งจังหวัดตามทะเบียนบ้าน โดยให้รวมถึงค่าบริการแพ็คเกจที่พักพร้อมการเดินทางหรือบริการที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนค่าสินค้าและบริการผ่านระบบที่ตรวจสอบการทำธุรกรรมได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนด
(3) กรณีพบความผิดปกติจากการรับชำระเงินด้วยแอพพลิเคชัน “ถุงเงิน” ให้กรมบัญชีกลางในฐานะผู้รับสมัครร้านค้าเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมฯ และมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ และผู้อนุมัติและดำเนินการแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผ่านวิธีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณแทนกันเป็นผู้ดำเนินการการจ่ายเงินและตรวจสอบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติดังกล่าว หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีการกระทำผิด ให้กรมบัญชีกลาง ระงับสิทธิร้านค้าในการรับชำระเงินด้วยแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” และดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายต่อไป
(4) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครอง ให้ความอนุเคราะห์การตรวจสอบข้อมูลบุคคลจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์สำหรับการดำเนินมาตรการส่งเสริมการบริโภคฯ
4.5 งบประมาณ : ใช้งบประมาณเดิมสำหรับมาตรการส่งเสริมฯ ในส่วนของ ททท.ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 ในกรอบวงเงินสำหรับเงินชดเชยจำนวน 9,050 ล้านบาท
ที่มา : Voice TV