คุณหญิงกัลยา ผุด 10 เนื้อหาประวัติศาสตร์สื่อสารสมัยใหม่ใส่ในคลังข้อมูลดิจิทัลให้เด็กเรียนรู้ คุณหญิงกัลยา เปิดตัวนโยบายการอ่าน การเขียน การเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ดัน “นนน” นักแสดงซีรีย์เรื่องดังเป็นพรีเซ็นเตอร์โครงการ พร้อมผุด 10 เนื้อหาประวัติศาสตร์สื่อสารสมัยใหม่ใส่ในคลังข้อมูลดิจิทัลให้เด็กเรียนรู้
วันนี้ (16 ธ.ค.) เวลา 16.30 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ แถลงข่าวเปิดตัวนโยบายการอ่าน การเขียน การเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ซึ่งมีนายกรภัทร์ เกิดพันธุ์ หรือ นนน เป็นนักแสดงชายชื่อดังจากซีรีย์ดัง ‘รักนะเป็ดโง่’ ช่องGMM ตัวแทนคนรุ่นใหม่เป็นพรีเซนเตอร์ของการปฎิรูปการเรียนการสอนวิชาปนะวัติศาสตร์ โดยคุณหญิงกัลยา กล่าวว่า ขณะนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วแต่เราทุกคนไม่ควรลืมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยที่มีมาอย่างยาวนาน ดังนั้นการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญอย่างมากต่อเด็กและเยาวชนและครูผู้สอน ซึ่งนโยบายของตนต้องการที่จะยกระดับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ให้ไม่น่าเบื่ออีกต่อไปผ่านการสื่อสารร่วมสมัย เช่น สอนวิชาประวัติศาสตร์ด้วยแบบร้องแร๊พ หรือ หมอลำ และการจัดทำวิชาประวัติศาสตร์แบบแอนิเมชั่น เป็นต้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิชาดังกล่าวอย่างไม่น่าเบื่อที่เหมาะสม ทั้งนี้ในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวตนได้ตั้งคณะทำงานการอ่าน การเขียน การเรียนประวัติศาสตร์ผ่านการสื่อสารร่วมสมัย ขึ้น โดยคณะทำงานชุดนี้ได้วิเคราะห์การเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ เพื่อนำมาจัดทำคลังข้อมูลวิชาประวัติศาตร์ เพื่อให้ครูได้นำไปใช้สอนหรือไปต่อยอดการเรียนรู้ได้ในอนาคต
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับคลังข้อมูลวิชาประวัติศาตร์ที่ได้คัดเลือกมาทั้งหมดใส่ไว้ในคลังข้อมูลดิจิทัลเป็นเรื่องใกล้ตัวในสังคม มีทั้งหมด 10 เรื่อง อาทิ การรถไฟไทย เป็นการเรียนรู้เนื้อหาประวัติศาสตร์การคมนาคมรถไฟตั้งแต่ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร เครื่องบิน ถูกใช้งานตั้งแต่ยุคไหน ชุดประจำชาติ การส่งเสริมการศึกษาไทยเริ่มในรัชสมัยไหน การบันเทิงในอดีตมีความเป็นมาอย่างไร อาหารไทยในภูมิภาคต่างๆตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การใช้น้ำแข็งในเมืองไทย เป็นต้น โดยคลังข้อมูลทั้งหมดเหล่านี้ถูกปรับปรุงนำเสนอด้วยสื่อสมัยใหม่ เพื่อให้เด็กนำไปเรียนรู้ และถือเป็นการปรับวิชาประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ที่ให้ผู้เรียนไม่น่าเบื่ออีกต่อไป ทั้งนี้หากสถานศึกษาที่สนใจสามารถดาวน์โหลดคลังข้อมูลเหล่านี้ได้ผ่านเว็บไซต์ศธ.