สกศ.ไม่ปลื้มค่าเฉลี่ยการศึกษาไทยปี 63 อยู่แค่ระดับม.ต้น
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อระบบการศึกษาทำให้ผู้เรียนขาดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2579
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบข้อมูลน่าสนใจว่าในปี 2563 จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรไทยวัยแรงงาน (กลุ่มอายุ 15 – 59 ปี) ซึ่งเป็นกำลังแรงงานสำคัญปัจจุบัน เท่ากับ 9.86 ปี หรือมีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.ต้น) ยังห่างจากค่าเป้าหมายถึง 2.64 ปี จากเป้าหมายในปี 2579 ตามแผนการศึกษาแห่งชาติ อยู่ที่ 12.5 ปี หรือมีการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นอย่างต่ำ ซึ่งแนวโน้มจะถึงค่าเป้าหมายได้ยากเนื่องจากต้องเพิ่มโดยเฉลี่ยปีละ 0.15 ปี จึงเป็นเรื่องน่าวิตกต่อภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ในกลุ่มเด็กนักเรียน เนื่องจากการปิดภาคเรียนที่นานขึ้น และยังมีข้อจำกัดของการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัลต่าง ๆ ช่วงรอยต่อของการเรียนการสอนในสถานการณ์โควิด-19 มีผลทำให้ผู้จบการศึกษาหางานทำยากขึ้น และยังขาดโอกาสสั่งสมประสบการณ์ทำงานและรายได้ ล้วนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในระยะยาว
เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวอีกว่า จากข้อมูลยังพบว่าวัยแรงงานจำแนกตามภูมิภาคในปี 2563 โดยเฉลี่ยแต่ละภาคมีการศึกษาระดับ ม.ต้น หรือมีการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกภูมิภาค สำหรับกรุงเทพ ฯ มีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุด 11.76 ปี รองลงมาเป็นภาคกลาง 10.08 ปี ภาคใต้ 9.63 ปี ภาคเหนือ 9.18 ปี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9.02 ปี ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามจังหวัดมีข้อค้นพบ 53 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 68.83 ที่มีการศึกษาในระดับ ม.ต้น และมี 24 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 31.17 ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาปีการศึกษาเฉลี่ยรายจังหวัด พบว่าวัยแรงงานที่อาศัยในจังหวัดนนทบุรี มีปีการศึกษาเฉลี่ยสูงที่สุดเท่ากับ 11.80 ปี รองลงมา กรุงเทพ ฯ เท่ากับ 11.76 ปี และอันดับ 3 จ.สมุทรปราการ เท่ากับ 10.96 ปี ขณะที่สามลำดับสุดท้าย ประกอบด้วย จ.ศรีสะเกษ เท่ากับ 8.32 ปี จ.ตาก เท่ากับ 7.99 ปี และน้อยที่สุด จ.แม่ฮ่องสอน 7.20 ปี
ดร.อำนาจ กล่าวต่อว่า ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนภาพที่ชัดเจนว่าทุกภาคส่วนต้องร่วมกันผลักดันกลุ่มวัยแรงงานอายุ 15-39 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายต่อยอดการพัฒนาประเทศอนาคต โดย สกศ. สังเคราะห์ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการจัดสรรงบประมาณทางการศึกษาให้มีความสอดคล้องความต้องการและความจำเป็นของสถานศึกษาแต่ละขนาดที่มีความแตกต่างกัน เสนอปรับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบข้ามสาขาวิชาเพื่อพัฒนาให้เด็กมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษ ที่ 21 รวมถึงการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปรับการจัดการเรียนการสอนแบบ Non-Degree ริเริ่มการใช้กรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (NQF) และระบบธนาคารหน่วยกิต (เครดิตแบงก์) ที่มีการกำหนดผลลัพธ์ของการเรียนรู้ เน้นสมรรถนะที่จำเป็นในตลาดงาน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสในยุคหลังโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมอาหาร การเกษตร ดิจิทัล หุ่นยนต์ และการแพทย์ครบวงจร
“แม้ว่าผลการศึกษาจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยวัยแรงงานไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงปีละ 0.1 ปี แต่ สกศ. มองว่าโควิด-19 คือตัวเร่งความท้าทายที่มีอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นหากจะให้บรรลุตามแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ในปี2579 อยู่ที่ 12.5 ปี จำเป็นต้องเร่งปรับเปลี่ยนรูปแบบและหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์การพัฒนาของประเทศที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว สนับสนุนการพัฒนาทักษะ ปรับทักษะ และสร้างทักษะใหม่ให้กับวัยแรงงานให้มีความรู้และสามารถเรียนต่อได้สูงขึ้นอีก” ดร.อำนาจ กล่าว.
ขอบคุณที่มา : Facebook เพจ At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู