“ณัฏฐพล” มอบนโยบาย 3 ป. คือ ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง เพื่อยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อความผ่านเว็บไซต์ Facebook Nataphol Teepsuwan – ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ดังนี้
“…ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง
มีคนมากมายบอกผมว่า การศึกษาเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรอก ต้องใช้เวลา 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี แต่ผมปล่อยให้การศึกษาของประเทศไทยเป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะนี่คืออนาคตของลูกหลานเรา ถ้าไม่ลงมือทำวันนี้ ก็มีแต่จะเปลี่ยนยากขึ้น
วันนี้ในยุคนี้เราจึงจำเป็นที่จะต้องมองการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ การศึกษาที่มีความยืดหยุ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ตอบโจทย์สังคม ตอบโจทย์ตลาด และสุดท้ายทำให้คนทุกคนสามารถเติบโตและประสบความสำเร็จในแบบฉบับของตนเองได้
หนึ่งปีที่ผ่านมาผมพยายามเข้าถึงปัญหาการศึกษาไทยให้มากที่สุด โดยลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ สังเกต การเรียนการสอน สภาพแวดล้อม พูดคุยกับนักเรียน ครู ผอ.โรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครอง แม้แต่เปิดดูสมุดหนังสือของเด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาของปัญหาว่า เพราะอะไรการศึกษาไทยจึงยังคงอยู่กับที่ไม่ก้าวไปข้างหน้า วันนี้หลังจากตกผลึกความเข้าใจในทุกด้านของปัญหาแล้ว ผมพร้อมที่จะเปลี่ยนระบบการศึกษาไทยอย่างเร็วและแรง ด้วยนโยบาย 3 ป. คือ ปลดล็อก ปรับเปลี่ยน เปิดกว้าง เพื่อยกกำลังสองการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ
ผมเชื่อว่าหากทุกคน ทุกภาคส่วน ร่วมมือกัน การศึกษาของเราจะก้าวทันโลกและแข่งขันได้ในระดับสากลแน่นอน มาจับมือแก้ปัญหาการศึกษาไทยไปด้วยกัน #อนาคตเด็กไทยคืออนาคตของประเทศครับ #การศึกษายกกำลังสอง
“ปลดล็อก” กลไกขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกับทุกภาคส่วน นำภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม จับมือเป็นรูปธรรม เพื่อปฏิรูปการศึกษาสู่ความเป็นเลิศอย่างแท้จริงและยั่งยืน เป็นการ “ปลดล็อก” ให้เกิดการทำงานร่วมกันง่ายขึ้น ลดข้อจำกัดของกระบวนการต่าง ๆ ลง เพื่อให้ภาครัฐและเอกชนสามารถช่วยกันบริหารการศึกษาของประเทศได้ลึกและกว้างขึ้น
“เก่งอะไรก็มุ่งไปด้านนั้น” คือเป้าหมายของการ “ปรับเปลี่ยน” ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรเพื่อพัฒนาความก้าวหน้าของนักเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดเส้นทางการเรียนรู้และอาชีพ เพื่อความเป็นเลิศตามแบบฉบับของตนเอง นอกจากนี้ยังจะมีการปรับเปลี่ยนการเข้าสู่ตำแหน่งต่าง ๆ ในด้านการศึกษาด้วย เบื้องต้นคือเราต้องการคนเก่งมาเป็นครู เพราะเมื่อครูเก่งก็จะสอนนักเรียนให้เก่งได้
การ “เปิดกว้าง” คือเปิดกว้างในการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยต่อยอดจากมาตรฐานด้านคุณภาพ เพื่อนำพาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศตามบริบทแวดล้อม ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำ “คู่มือมาตรฐานโรงเรียน” เพื่อกำหนดให้โรงเรียนทั่วประเทศมีมาตรฐานสอดคล้องกับบริบทและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในเมืองใหญ่หรือโรงเรียนที่อยู่ในชนบทก็ต้องมีความเป็นเลิศที่เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียน ในส่วนของวิทยาลัยต้องเปิดกว้างเพื่อความเป็นเลิศและความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เน้นเรื่องของวิชาชีพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ให้จบมาแล้วมีงานทำตรงกับที่ตลาดต้องการ
ขอบคุณที่มา : Facebook Nataphol Teepsuwan – ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ