‘ณัฐฏพล’ เบรกทบทวนลดเงินเหลือติดบัญชีน้อยกว่าร้อยละ 30 ชี้ ม.ค.นี้ได้แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครู
‘ณัฐฏพล’ เบรกทบทวนลดเงินเหลือติดบัญชีน้อยกว่าร้อยละ 30 ชี้ ม.ค.นี้ได้แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครู

‘ณัฐฏพล’ เบรกทบทวนลดเงินเหลือติดบัญชีน้อยกว่าร้อยละ 30 ชี้ ม.ค.นี้ได้แนวทางแก้ปัญหาหนี้ครู

เมื่อวันที่ 6 มกราคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรสวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยกรณีนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ให้ข้อมูลว่าขณะนี้หลายฝ่ายกังวลกรณีที่ศาลปกครองกลางพิพากษาเรื่องการหักเงินเดือน เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ ว่าเงินเดือนสุทธิหลังจากหักชำระหนี้แล้ว ต้องเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ต่อเดือน แต่ที่ผ่านมามีครูจำนวนหนึ่ง รวมตัวเรียกร้องให้ปลดล็อกเรื่องดังกล่าว เพราะได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีเงินเดือนเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 หรือเหลืออยู่ร้อยละ 30 พอดี เพราะครูเหล่านี้เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนต้องการกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดคำสั่งศาลปกครอง จนครูบางคนตัดสินใจไปกู้เงินนอกระบบ จึงอาจจะต้องทบทวน ลดจำนวนเงินเหลือติดบัญชีให้น้อยลงนั้น ว่า ตนไม่อยากทบทวนลดจำนวนเงินเหลือติดบัญชีให้น้อยลงในขณะนี้ เพราะการที่ศาลปกครองกำหนดให้ครูมีเงินเดือนเหลือติดบัญชีอยู่ร้อยละ 30 เพราะอยากให้ครูมีวินัยทางการเงินมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนี้สินของครู ศธ.ให้ความสนใจ อยากจะแก้ไขปัญหาจริงจัง และต้องมีวิธีการหรือแนวทางแก้ไขที่มีความชัดเจนอย่างเร็วที่สุดด้วย

“ขณะนี้นายอนุชา บูรพชัยศรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากรของ ศธ. ได้เสนอแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาแล้ว จากที่ดูรายละเอียดเบื้องต้น เชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินครูได้ในระดับหนึ่ง แต่จะแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งนี้แผนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูที่จะนำไปปฏิบัตินั้น จะต้องมีความรอบครอบมากขึ้น ซึ่งผมขอใช้ระยะเวลาศึกษารายละเอียดก่อน ส่วนแผนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมีอะไรบ้างนั้น บอกรายละเอียดไม่ได้ เพราะอยู่ระหว่างต่อรอง และเจรจากับสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ครู นอกจากนี้ ศธ.มุ่งหาแนวทางสร้างระบบให้ครูมีแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อนด้วย แต่ในระยะยาวต้องศึกษารายละเอียดการใช้เงินของครู และศึกษาแนวทางที่ให้ครูเข้ามาออมเงินมากขึ้น พร้อมกับหาแนวทางที่จะทำให้การเงินของครูมีสภาพคล่องมากกว่าเดิมด้วย” นายณัฏฐพล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้กำหนดกรอบเวลาในการสร้างแนวทางที่ชัดเจน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินครูหรือไม่ นายณัฏฐพล กล่าวว่า เชื่อว่านายอนุชา และคณะกรรมการแก้ปัญหาหนี้สิ้นครูของ ศธ.ที่กำลังทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และจะสามารถเปิดเผยแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูเบื้องต้นได้ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้

ขอบคุณที่มา : มติชน วันที่ 6 มกราคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่