นักวิชาการ ชี้ สกศ.ควรเป็นเจ้าภาพคุมทั้งระบบตั้งแต่นโยบายวิจัย และงบประมาณ
เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ดร.ปาน กิมปี อนุกรรมการสภาการศึกษา ด้านการวิจัยทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า จากการเสวนาวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์ความรู้ งานวิจัยทางการศึกษา : OEC Research Forum ประจำปีงบประมาณ 2563 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ในการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษา เพื่อการตอบสนองนโยบาย และการพัฒนาประเทศ ซึ่งตนเห็นว่า สกศ.ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบายและจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ น่าจะเป็นแกนกลาง หรือ เป็นเจ้าภาพ และเครือข่ายเรื่องวิจัยทางการศึกษา
โดยมีมาตรการ หรือ เป็นผู้กำหนดในการจัดสรรงบประมาณไปสู่งานวิจัย เพื่อให้ตอบสนองการพัฒนาชีวิตและสังคม แต่ในทางปฏิบัติปัจจุบันงบฯวิจัยอยู่ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และจัดสรรงบฯไปที่เจ้าภาพย่อย จึงทำให้การควบคุม หรือ กำกับดูแลเรื่องงานวิจัย เพื่อช่วยเหลือเรื่องงานการศึกษา หรือการเรียนรู้ไม่เป็นไปตามนโยบาย จึงเห็นว่าภารกิจเรื่องนโยบายวิจัย งบฯวิจัย น่าจะให้สกศ.เป็นผู้ดูแล
“เรื่องงานวิจัยไม่ได้หมายความว่า ต้องใช้งบฯวิจัยทั้งหมด ซึ่ง สกศ.สามารถเข้ามาช่วยระดมทรัพยากรและบริหารจัดการในเรื่องขององค์ความรู้ คนทำงานวิจัย และการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ให้เกิดการตอบสนองต่อผลการวิจัย เช่น เรื่องการวิจัยในสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องส่งเสริมให้หน่วยงานต่าง ๆ ในสังคมเป็นหน่วยผู้ทำงานวิจัยด้วยไม่เฉพาะ หน่วยราชการ เรามีชุมชน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีโรงเรียนผู้สูงอายุ มีผู้นำชุมชนต่างๆ ก็ต้องระดมมาช่วยเรื่องการวิจัย เพื่อตอบสนองเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต”ดร.ปานกล่าว
สำหรับประเด็นที่จะวิจัย ก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพของคนในชุมชน เป็นงานวิจัยระยะสั้นเพื่อนำมาใช้ประโยชน์จริง ให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยงานวิจัยตลอดเวลา ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ในการทำวิจัยก็ต้องมองยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พัฒนาประเทศ แผนปฏิรูปการศึกษา ผนวกกับภารกิจของหน่วยงานที่ให้ทำการวิจัย เป็นการวิจัยเพื่อการขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนแปลง
ขอบคุณที่มาของข่าว : เดลินิวส์ วันที่ 13 มกราคม 2563