นายกฯสั่งเข้มงวดมาตรการเปิดเรียนแบบ Onsite
นายกฯสั่งเข้มงวดมาตรการเปิดเรียนแบบ Onsite

นายกฯสั่งเข้มงวดมาตรการเปิดเรียนแบบ Onsite เน้นย้ำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรการเปิดภาคเรียนให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC)

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตนได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบถึงแผนการเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในรูปแบบปกติ หรือ Onsite ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 12,000 แห่ง ซึ่งในวันที่ 15 พ.ย.นี้ จะมีโรงเรียนในพื้นที่ กทม.สังกัด สพฐ.และสังกัดอื่น ๆ ทยอยเปิดเรียนเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้ว่าการเปิดเรียนเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมามีอุปสรรคอะไรหรือไม่ ซึ่งตนได้ชี้แจงว่าภาพรวมการเปิดเรียนแบบ Onsite เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยขณะนี้มีจำนวนนักเรียนนักศึกษาอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ กว่า 2,833,447 คน หรือคิดเป็น 78% และยังมีทยอยเข้ารับการฉีดวัคซีนเพิ่มอีกอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นเพื่อนฉีดแล้วไม่ได้มีอาการข้างเคียงจึงมั่นใจที่จะเข้ารับการฉีดมากขึ้น ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษาประมาณ 800,000 กว่าคน ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วกว่า 90 % ส่วนเข็มสองฉีดแล้วประมาณ 60% สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งสองเข็ม ประมาณ 87,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้จะเร่งสร้างความเข้าใจให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามาฉีดวัคซีนให้ครบ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียน

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประชาสัมพันธ์เรื่องมาตรการเปิดภาคเรียนให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะ 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย1.Distancing เว้นระยะห่าง 2. Mask wearing สวมหน้ากาก 3. Hand washing ล้างมือ 4. Testing คัดกรองวัดไข้ 5. Reducing ลดการแออัด และ 6.Cleaning ทำความสะอาด ส่วน 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) อย่างเข้มข้น คือ 1. Self-care ดูแลตนเอง 2. Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว 3. Eating กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4. Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน 5. Check สำรวจตรวจสอบ และ 6.Quarantine กักกันตัวเอง ที่ ศธ.จัดทำขึ้น รวมถึงแผนเผชิญเหตุและคู่มือการเปิดเรียนภาคเรียนที่แจกจ่ายให้สถานศึกษาทุกแห่งขอให้ยึดปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย

“สำหรับเงินเยียวยาจำนวน 2,000 บาทของนักศึกษาปริญญาตรีอาชีวะ ทั่วประเทศ 23 แห่ง กว่า 13,000 คนที่ตกหล่นไปนั้น ยืนยันว่านักศึกษากลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยาอย่างแน่นอน เพราะ ครม.รับทราบในหลักการเบื้องต้นแล้ว โดยดิฉันจะเร่งรัดกระบวนการไปที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ติดตามอย่างใกล้ชิด” น.ส.ตรีนุช กล่าว.

ขอบคุณที่มา Facebook At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่