นายกฯเบรก ศธ.ใช้หลักสูตรอื่นแทนหลักสูตรแกนกลางฯ
ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาที่จะขับเคลื่อนจะยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 258 จ (4) ซึ่งนำไปสู่การกำหนดแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับปรับปรุง 2564) โดยกำหนดให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร ให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)
ในปัจจุบัน ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ เจตคติ คุณลักษณะ และสมรรถนะไว้อย่างสมบูรณ์แล้วเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ และผลงานจากการเรียนรู้ที่มีคุณค่า โดยให้เพิ่มพูนศักยภาพในการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ และการวัดผลประเมินผลเพื่อการพัฒนาผู้เรียนให้เหมาะสม สอดคล้อง ตอบสนองต่อหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560)
รองนายกฯ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงเรียนในเขตพื้นที่นวัตกรรม สามารถพัฒนาเพิ่มเติมเนื้อหาสาระการเรียนรู้ ทักษะ เจตคติ ค่านิยม คุณลักษณะและสมรรถนะที่เหมาะสม และสอดคล้องกับบริบทของชุมชน ท้องถิ่น รวมถึงเหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ของแต่ละสถานศึกษาที่มีความแตกต่างกัน โดยยังคงมีสาระสำคัญตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) อย่างครบถ้วน ไม่ขาดหาย ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ทั่วไปยังใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง 2560) ในปัจจุบันต่อไป เรื่องนี้ตนได้นำเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แล้ว ท่านก็เห็นด้วยให้ใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานฯ ยังไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรอื่นเพราะจะกระทบกับการจัดพิมพ์ตำรา ซึ่งจะเป็นภาระของครู ผู้ปกครอง และนักเรียนในยามที่เศรษฐกิจดังเช่นปัจจุบัน ถ้าเปลี่ยนหลักสูตรก็ต้องซื้อตำราใหม่ ครูก็ต้องอบรม ซึ่งจะเป็นภาระเพิ่มขึ้น จึงไม่ประสงค์ให้เกิดภาระดังกล่าวในขณะนี้
“ส่วนตัวไม่อยากให้เรียกหลักสูตรฐานสมรรถนะ เพราะคำว่าฐานสมรรถนะผมไม่รู้จัก ไม่รู้ความหมาย ที่สำคัญสิ่งที่ได้คุยกันไว้กับ รมว.ศึกษาธิการ ก็คือต้องมีการปรับวิธีจัดการเรียนการสอนโดยนำวิธีการเรียนแบบ Active Learning เข้ามาให้มาก แล้วให้ครูและนักเรียนช่วยกันคิดออกมาเป็นนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา ศธ.ก็เคยจัดแสดงนวัตกรรมเหล่านี้มาแล้ว หากไประดมหามาก็จะมีหลายหมื่นชิ้น ซึ่งนั่นก็คือ การปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริง เรื่องนี้ได้หารือกับ รมว.ศธ. และประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รวมถึงกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาแล้วก็เห็นพ้องกัน” ดร.วิษณุ กล่าว.
ขอบคุณที่มา : Facebook At_HeaR ข่าวจริงเข้าหู