ประธานบอร์ด กสศ. แนะรัฐตั้ง”อสม.การศึกษา”สร้างความเสมอภาค ประธานบอร์ด กสศ. เผยการรับมือวิกฤตโควิด-19 ระยะยาว ต้องสร้าง 5 ระบบคุ้มครองสังคม เสนอรัฐตั้ง อสม.การศึกษา รุกค้นหาผู้ด้อยโอกาสไม่เสมอภาคทางการศึกษา
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน กสศ.ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาว่า นอกจากสามารถให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา
รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวนรวมกันแล้ว มากกว่า 1,147,754 คน ใน 27,731 โรงเรียน ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยแล้ว (1 ใน 4 ของเป้าหมายที่ กอปศ. เคยประเมินเอาไว้) ซึ่งต้องขอขอบพระคุณการสนับสนุนจากคุณครูสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. กว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ ที่ช่วยให้ กสศ. เข้าถึง และได้มีโอกาสช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดในประเทศได้มากกว่า 1 ล้านคนภายในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม หลายๆ คนอาจคิดว่าการทำงานลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะวัดความสำเร็จในการบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินการด้วย “จำนวนหัว” ของกลุ่มเป้าหมายที่เราโอนเงินให้เสร็จเพียงเท่านั้น แต่ที่ กสศ. พวกเราคิดว่าการทำงานของเรากับน้องๆ มากกว่า 1 ล้านชีวิตนี้พึ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น ที่ กสศ. มีระบบสารสนเทศที่ชื่อว่า iSEE ช่วยติดตามการทำงานสนับสนุนน้องๆ ทุกคนได้เป็นรายบุคคล ตั้งแต่วันแรกที่เขาเริ่มรับการสนับสนุนจาก กสศ. เมื่อชั้นอนุบาล 1 ไปจนเขาสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สูงกว่า ทั้งในและนอกระบบการศึกษาตามศักยภาพและความถนัดของเขา
ดร.ประสาร ในฐานะกรรมการที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) เสนอว่า ด้วยประสบการณ์การทำงาน 2 ปี และข้อมูลเชิงลึกจากระบบ iSEE ของ กสศ. เราจึงมีข้อเสนอในการสร้าง “ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษา” (social protection in education system) ใน 5 มิติดังนี้
1.ความมั่นคงทางอาหาร (food security) ให้แก่เด็กเยาวชนทุกคนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเสมอภาค
ปัจจุบันเราสนับสนุนอาหารกลางวันเพียง 200 วันต่อปีให้แก่เด็กอนุบาลถึง ป.6 เท่านั้น ยังมีเด็ก ม.ต้นถึง ม.ปลายอีกหลายล้านคนที่ยังไม่มีอาหารกลางวันทานที่โรงเรียน และยังมีอีก165 วัน ที่เด็กเยาวชนด้อยโอกาสหลายล้านคนยังไม่มีความมั่นคงทางอาหารในชีวิตของตนและครอบครัว เรื่องนี้ท่านอาจารย์สง่า ดามาพงษ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับชาติ น่าจะช่วยให้ข้อเสนอแนะแก่พวกเราในรายละเอียดให้ขับเคลื่อนงานกันต่อได้อีกมาก
2.ความมั่นคงของสถาบันครอบครัว (family security) ปัจจุบันครอบครัวที่มีรายได้น้อยมากกว่าร้อยละ 40 เป็นครอบครัวแหว่งกลาง พ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เด็กเยาวชนราว 1 ล้านคนกำลังเติบโตขึ้นมาโดยขาดความมั่นคงในสถาบันครอบครัว
3.ความพร้อมและความปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียนของนักเรียน (travel security) ปัจจุบันเด็กเยาวชนเกือบ 2 ล้านคนไม่มีค่าใช้จ่ายและพาหนะที่ปลอดภัยในการเดินทางไปโรงเรียน ทำให้มีเด็กเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา และประสบอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปโรงเรียน ดังที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นระยะๆ
4.ความพร้อมและความปลอดภัยของสถานศึกษาและครู (school security) ในการจัดการศึกษาทั้งในเชิงกายภาพ และความพร้อมของผู้บริหารและครูในการจัดการศึกษาตามมาตรฐานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงการจัดการศึกษาแก่ผู้พิการด้อยโอกาสประเภทต่างๆ การป้องกันความรุนแรงในโรงเรียน รวมทั้งการจัดการศึกษาภายใต้สถานการณ์อย่าง COVID-19
5.ความพร้อมของชุมชนท้องถิ่น (community security) บทเรียนสำคัญจากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้พวกเรายิ่งเห็นความสำคัญภูมิปัญญาของชาวแอฟริกาที่ว่า It takes a village to raise a child “การสร้างเด็กคนหนึ่งต้องอาศัย คนทั้งหมู่บ้าน ความเข้มแข็งและความร่วมมือร่วมใจของชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญในการสนับสนุนสถาบันครอบครัวและสถานศึกษา ในการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคมในระบบการศึกษาทุกด้าน
“เมื่อเร็วๆ นี้ เราพบจุดแข็งอย่างหนึ่งในระบบของบ้านเรา คือ อสม.สาธารณสุข ทำให้ฉุกคิดว่า จะเป็นอย่างไรบ้างถ้าจะสร้าง อสม.การศึกษา คือการสร้างเด็กคนหนึ่ง ไม่ใช่ไปห้องเรียน ออนแอร์ ออนไลน์ เด็กอายุ 15 ปีพบเยอะตั้งครรภ์ก่อนกำหนด เราพบเยอะทำไมไม่ไปอาชีวะเพื่อได้อาชีพ เหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือจากชุมชนในหลากรูปแบบ เป็นไปได้ไหมที่จะสร้าง อสม.การศึกษา เหมือน อสม.สาธารณสุข ที่เข็มแข็งมากในสถานการณ์โควิด ไปช่วยคัดคนเดินทางกลับจากเกาหลี กักตัวจากโรค ซึ่งเราสามารถนำรูปแบบนี้ มาสร้างระบบเครือข่าย อสม.การศึกษาขึ้นมา ตัวอย่างเช่น ตู้ปันสุข เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน” ดร.ประสาร กล่าว
ดร.ประสาร กล่าวอีกว่า ระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษาทั้ง 5 มิตินี้ หากเกิดขึ้นได้จริง ย่อมจะเป็นเสาหลักที่สำคัญของระบบการศึกษาในการส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และคุณภาพการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายทั้งในและนอกระบบการศึกษา ทั้งในวัยเรียนและในวัยแรงงาน กสศ. จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งที่มีผู้แทนอยู่ในบอร์ดของเราและหน่วยงานภายนอกอื่นๆ
เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบการคุ้มครองทางสังคมในระบบการศึกษาทั้ง 5 ด้านในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อประชาชนกลุ่มเป้าหมายหลาย 10 ล้านคนและครัวเรือนเหล่านี้ได้รับความคุ้มครองทางสังคมแล้ว ความจำเป็นในการพึ่งพามาตรการกู้วิกฤติในภาวะฉุกเฉินอย่างที่ผ่านมาก็จะลดลง ระยะเวลาที่ใช้ในการกลับสู่ภาวะปกติก็จะลดลง เพราะสังคมไทยจะมี “ภูมิคุ้มกัน” เพื่อสู้วิกฤตทั้งในรอบนี้และรอบหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป.
ขอบคุณที่มาและอ่านต่อที่ : เดลินิวส์ออนไลน์ พุธที่ 20 พฤษภาคม 2563