ผู้บริหารโรงเรียนหนุนเลิกสอบโอเน็ต แนะ ศธ.ให้โรงเรียนสร้างมาตรฐานการวัดตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ซึ่งการวัดมาตรฐานจะต้องไม่สร้างความเหลื่อมล้ำด้วย
เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ตามที่กลุ่มนักเรียนเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ยกเลิกการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ส่งผลให้การเรียนการสอนในโรงเรียนทำได้ไม่เต็มที่จนไม่สามารถที่จะให้มีการทดสอบโอเน็ตได้นั้น ดร.ภูมิสิษฐ์ สุคนธวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร กล่าวว่า ส่วนตัวตนยินดีให้มีการยกเลิกการสอบโอเน็ต เพราะการสอบโอเน็ตเหมือนเป็นการตัดเสื้อโหลให้เด็กทั่งประเทศใส่ ซึ่งจะนำคะแนนโอเน็ตมาวัดกับเด็กทุกคนทั่วประเทศไม่ได้ เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีทักษะที่แตกต่างกัน เช่น จะนำคะแนนโอเน็ตของเด็กเตรียมอุดมศึกษาไปเทียบกับเด็กโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ทั้งนี้ตนมองว่าหากจะมีการวัดมาตรฐานการศึกษาของแต่ละโรงเรียนควรจะปรับวัดตามบริมบทของโรงเรียนหรือตามสมรรถของผู้เรียน เพราะขณะนี้หลักสูตรการเรียนการสอนได้ปรับเปลี่ยนไปหมดแล้ว ดังนั้นมหาวิทยาลัยก็ควรปรับการรับเด็กเรียนต่อสถาบันอุดมศึกษาด้วย ซึ่งมหาวิทยาลัยอยากได้เด็กแบบไหนก็กำหนดมาตรฐานมาเองได้ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่ต้องเกิดการแข่งขันเข้าเรียน
ด้าน นายเขษมชาติ อารีมิตร ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบวรนิเวศ กล่าวว่า โรงเรียนเห็นด้วยที่อยากจะให้ยกเลิกการสอบโอเน็ตทุกช่วงชั้น เพราะการสอบโอเน็ตส่งผลให้นักเรียนเกิดการแข่งขันผู้เรียนไม่ได้ประโยชน์เด็กมีความเครียดและกดดันจนทำให้ต้องไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม รวมถึงมีภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กม.6 สารพัดการสอบทั้งโอเน็ต การสอบแกต/แพต และการสอบสามัญ9 วิชา อีกทั้งการสอบโอเน็ตเป็นเพียงการโอ้อวดให้โรงเรียนนั้นๆมีชื่อเสียงมีป้ายติดหน้าโรงเรียนว่าเด็กได้คะแนนสอบสูง ส่วนการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่จำเป็นต้องใช้คะแนนโอเน็ต โดยมหาวิทยาลัยอยากได้เด็กประเภทไหนก็สามารถออกแบบการคัดเลือกได้เอง ดังนั้นจึงไม่ควรใช้มาตรฐานเดียวกันมาวัดคุณภาพเด็ก แต่ควรให้โรงเรียนคิดมาตรฐานการวัดขึ้นมาเอง เพราะโรงเรียนแต่ละแห่งมีความโดดเด่นแตกต่างกันไม่สามารถเปรียบเทียบกับโรงเรียนในเมืองได้ ซึ่งการสอบโอเน็ตคือการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
ขณะที่ นายสุพจน์ หล้าธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ กล่าวว่า หากมีนโยบายยกเลิกการสอบโอเน็ตควรประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปีเพื่อให้เด็กและครูได้มีการเตรียมตัวและเตรียมการสอนอย่างเต็มที่ โดยส่วนตัวมองว่าหากยกเลิกการสอบโอเน็ตก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ควรมีข้อสอบที่เป็นมาตรฐานกลางระดับชาติ เพื่อใช้วัดมาตรฐานคุณภาพโรงเรียนของเด็กแต่ละช่วงชั้นในการแข่งขันกับนานาประเทศ เพราะแต่ละโรงเรียนมีบริทที่แตกต่างกัน ซึ่งการวัดมาตรฐานจะต้องไม่สร้างความเหลื่อมล้ำด้วย
ขอบคุณที่มาและอ่านต่อที่ : เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 10 ตุลาคม 2563