มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563
มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563

มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563

ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน สำหรับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 8,224 โรง ในกรอบวงเงิน 51,904 ล้านบาท

มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563
มติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 2

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ประชุมเห็นชอบในหลักการโครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน สำหรับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล จำนวน 8,224 โรง ในกรอบวงเงิน 51,904 ล้านบาท

รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ โครงการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพเพิ่มขีดความสามารถให้กับนักเรียน สำหรับโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โดยจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการจำนวน 51,904.73 ล้านบาท ภายใต้ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563–2565 (3 ปี)

เป้าหมายพัฒนาโรงเรียน 8,224 โรง

กำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนาโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 8,224 โรง (ระดับประถมศึกษา 7,079 โรง และระดับมัธยมศึกษา 1,145 โรง) ให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานตามบริบทของชุมชนตนเอง

ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน บ้าน (ครอบครัว) วัด/ศาสนสถานอื่น ๆ และโรงเรียน ซึ่งจะทำให้ชุมชนเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของ และทำให้ “โรงเรียนกลายเป็นศูนย์กลางในชุมชน” อย่างแท้จริง    

จุดเน้นการดำเนินโครงการ

สพฐ. ได้รับงบประมาณโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ดังนั้น เพื่อให้โครงการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อมุ่งเน้นการดำเนินการใน 3 ด้านที่สำคัญคือ

  1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน
  2. ด้านการส่งเสริมการศึกษา เพื่อเพิ่มทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน และการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา
  3. ด้านการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในพื้นที่นั้น ๆ ในการบริหารจัดการการศึกษา

แนวทางการขับเคลื่อนโครงการ

  1. การพัฒนาตามแนวนโยบายโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ทั้งในเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและผู้เรียน รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา
  2. การพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency – Based Curriculum) 
  3. การพัฒนาด้านภาษาอังกฤษ ด้วยการจ้างครูชาวต่างชาติ
  4. การพัฒนาด้านการเรียนการสอนภาษาจีน
  5. การพัฒนาและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

กรอบวงเงินงบประมาณดำเนินการ

  1. งบลงทุน 19,766.02 ล้านบาท สำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน วัสดุอุปกรณ์ สื่อและสถานที่ให้เหมาะสม เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ห้องเรียนอัจฉริยะ ห้องปฏิบัติการและแหล่งเรียนรู้ Coding STEM ห้องปฏิบัติการด้านภาษา (Sound Lab) และสนามกีฬา เป็นต้น
  2. งบดำเนินงาน 30,477.49 ล้านบาท สำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมเสริมสร้างการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีนของผู้เรียน และกิจกรรมพัฒนาบุคลากร เป็นต้น
  3. งบรายจ่ายอื่น 1,661.22 ล้านบาท เพื่อดำเนินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านแนวทางการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพประจำตำบลในต่างประเทศ และการจัดทำเครื่องมือวัดประเมินผลระดับชั้นเรียนที่มุ่งเน้นวิทยาการคำนวณ และการออกแบบเทคโนโลยี เป็นต้น

ทั้งนี้ สพฐ.ต้องจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยดำเนินการอย่างโปร่งใส คำนึงถึงความคุ้มค่า ประหยัด ต้นทุนที่เหมาะสม ผลประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ รวมถึงความครอบคลุมของงบประมาณ เพื่อลดภาระงบประมาณของภาครัฐในระยะยาว อันจะนำไปสู่เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของภาครัฐในภาพรวม โดยพิจารณาเป้าหมายและประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ.

ขอบคุณที่มา : ศธ360องศา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่