เสมา1 หารือ สพฐ. สอศ. สทศ. และ สมศ. ย้ำการสอบ O-NET และ V-NET ต้องสะท้อนสมรรถนะเด็กอย่างแท้จริง

ย้ำการสอบ O-NET และ V-NET ต้องสะท้อนสมรรถนะเด็กอย่างแท้จริง 4

เมื่อวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประชุมหารือแนวทางการดำเนินการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Educational Test: O-NET) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา (Vocational National Educational Test: V-NET) โดยมีนายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผศ.ดร.ศิริดา บุรชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน), ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้แทนสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ

ย้ำการสอบ O-NET และ V-NET ต้องสะท้อนสมรรถนะเด็กอย่างแท้จริง 5

รมว.ศึกษาการ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาสมรรถนะของนักเรียนไทยในทุกระดับชั้น ให้มีศักยภาพตามมาตรฐานการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ อาทิ การสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็น พัฒนาทักษะเพื่อเข้าสู่โลกในศตวรรษที่ 21 เป็นต้น ซึ่งสมรรถนะเหล่านี้ ต้องสอดคล้องเชื่อมโยงกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน การวัดผล และการทดสอบนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดสอบ O-NET และ V-NET ซึ่งอาจจะเริ่มดำเนินการจากการสอบ O-NET ของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1-5 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานและการทดสอบที่ตั้งไว้

ย้ำการสอบ O-NET และ V-NET ต้องสะท้อนสมรรถนะเด็กอย่างแท้จริง 6

ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาที่ปรากฏในข้อสอบพอสมควร จึงขอความร่วมมือให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. หารือร่วมกับนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา เกี่ยวกับแนวทางการจัดการเรียนการสอน ที่เชื่อมโยงกับมาตรฐานการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ตั้งไว้ ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษามาตรฐานของการสอบที่ไม่ง่ายจนเกินไป เพียงแต่ต้องการให้การทดสอบสะท้อนสมรรถนะของเด็กอย่างแท้จริง

ในส่วนของครูผู้สอนนั้น ก็ต้องเข้าใจแนวทางของข้อสอบ และปรับวิธีการสอนให้ส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะของเด็กให้บรรลุตามมาตรฐานการศึกษาในแต่ละรายวิชา ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการต้องเร่งสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนการสอน และบุคลากรทางการศึกษา เพื่อสร้างการศึกษาพื้นฐานที่เท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และทำให้เด็กทุกคนได้รับการพัฒนาสมรรถนะที่ตรงตามมาตรฐานอย่างทั่วถึง

ขอบคุณที่มา : ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี

1 ความคิดเห็น

  1. ความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net)
    ข้าพเจ้าขอเรียนให้ทราบเบื้องต้นว่า ไม่ได้สังกัดกลุ่มการเมืองหรือผลประโยชน์ใดไดทั้งสิ้น ทุกข้อความ เป็นความรู้สึกจากการปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอนมากว่า 20 ปี
    เห็นผู้หลักผู้ใหญ่หน่วยงานทางการศึกษาออกมาแสดงความไม่สบายใจกับผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-net) ที่มีคะแนนต่ำ แล้ว ในฐานะที่เป็นครูผู้สอนที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ขอแสดงความคิดเห็นบ้างว่า ทำไมต้องให้ความสำคัญกับคะแนน O-net ขนาดนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมเราถึงมีการทดสอบ O-net การทดสอบนี้เกิดขึ้นจาก พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดให้มีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขึ้น เพื่อตรวจสอบว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งมีคุณภาพเท่าเทียมกันมากน้อยเพียงใด ตามมาตรฐาน และตัวชี้วัดที่กำหนด ดังนั้นประโยชน์ของการทดสอบ O-net คือ นำผลไปชี้วัดคุณภาพและมาตรฐานทางการศึกษาของนักเรียนและโรงเรียน (รวมถึงชี้วัดความสามารถของครูด้วย)
    ข้าพเจ้าไม่ได้ต่อต้านการทดสอบระดับชาติ เพียงแต่เห็นว่าการนำผลการทดสอบไปใช้ชี้วัดผลสัมฤทธิ์รวมทั้งหมด ไม่น่าจะเหมาะสม เพราะต้องชี้วัดคุณภาพจากปัจจัยอื่นๆ ในหลายปัจจัยร่วมด้วย คุณภาพการศึกษาไม่ควรตัดสินกันด้วยแบบทดสอบเท่านั้น มีปัจจัยอื่นที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย เช่น คุณธรรมจริยธรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และความสามารถด้านการคิด การอ่าน และการเขียน รวมถึงสมรรถนะ ทักษะด้านอื่นๆ ของผู้เรียนด้วย แต่ด้วยข้อจำกัดของวิธีการวัดด้านคุณลักษณะนั้นทำได้ยาก แบบทดสอบจึงเป็นเครื่องมือการวัดที่ง่ายและสะดวกที่สุด จึงต้องยอมรับว่าไม่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์โดยรวมได้อย่างครอบคลุม ข้าพเจ้าจึงไม่เห็นด้วยที่จะตัดสินคุณภาพการศึกษา เพียงแค่ผลการทดสอบ O-net
    การทดสอบ O-net มีประโยชน์ในการตรวจสอบว่าสถานศึกษามีคุณภาพเท่าเทียมกันมากน้อยเพียงใด แต่โดยหลักธรรมชาติและความเป็นจริงนั้น ต้องยอมรับว่า สถานศึกษาแต่ละแห่งนั้นมีบริบทแตกต่างกันไป ไม่เท่าเทียมกันแน่นอน ดังนั้นในมาตรฐานการศึกษาเดียวกัน ระดับคุณภาพของแต่ละแห่งจึงต้องต่างกัน แต่เป้าประสงค์ของผู้บริหารนั้นต้องการระดับคุณภาพสูงที่สุด ผู้เรียนจึงไม่ต่างไปจากพืชตัดแต่งพันธุกรรม ที่ถูกจัดกระทำให้ได้ผลออกมาดีที่สุดเหมือนกันทั้งหมด นั่นคือสิ่งที่อันตราย เพราะพืชตัดแต่งพันธุกรรมเหล่านี้จะเติบโตได้ดีเฉพาะในพื้นที่จัดกระทำเท่านั้น แต่เมื่อออกจากพื้นที่ มันจะอ่อนแอ และถูกทำลายไปในที่สุด
    ผู้เรียนตามหลักธรรมชาติและความเป็นจริง ควรจะมีความหลากหลาย ในความสามารถด้านการเรียนรู้แต่ละคน มีทักษะในแต่ละด้านแตกต่างกันออกไป การตัดสินผู้เรียนเพียงแค่แบบทดสอบฉบับเดียวนั้น ย่อมไม่เป็นธรรม การวางจุดเน้นที่ผลการทดสอบ O-net จึงเป็นสิ่งที่ทำลายระบบการศึกษา โดยเฉพาะการจัดการเรียนรู้ เมื่อครูเน้นการสอนเพื่อให้นักเรียนทำข้อสอบได้ สถานศึกษาจึงต้องเปลี่ยนบทบาทตนเองเป็นสถาบันติว นักเรียนจึงขาดการเรียนรู้วิชาชีวิต ที่จำเป็นต้องนำไปใช้ในสังคมยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งต้องมีทักษะต่างๆ ทีต้องฝึกฝนเป็นจำนวนมาก แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้เรียนได้ฝึกเพียงแค่ทำแบบทดสอบเท่านั้น ครูจึงสังเวชใจเหลือเกิน เพราะการศึกษานั้นตามหลักการแล้วเป็นสิ่งที่ทำให้คนเกิดความงอกงามในทุกด้าน แต่โดยความเป็นจริงในปัจจุบันมันสวนทางกันโดยสิ้นเชิง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่