รมช.ศธ.สรุปการจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน Coding for Teacher (C4T) ผ่านระบบออนไลน์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.)ประชุมหารือสรุปการจัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน Coding for Teacher (C4T) ผ่านระบบออนไลน์
โดยมี ดร.โชติมา หนูพริก กลุ่มพัฒนาการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.),
ศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เข้าร่วม ณ กระทรวงศึกษาธิการ
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สสวท. และ สพฐ. ได้ร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนการจัด “โครงการส่งเสริมการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding)” สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนข้อที่ 7 ของรัฐบาล เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการจัดการสอน Coding สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพครู และบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 25,000 คน ภายในปีงบประมาณ 2563 พร้อมได้วางแผนจัดการอบรม “หลักสูตรการพัฒนาการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูผู้สอน” (Coding for Teachers) แบบตัวต่อตัวให้กับครูทุกช่วงชั้น ในเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2563
แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างกว้างขวาง จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการอบรมด้วยระบบออนไลน์ พร้อมปรับเวลาการอบรมตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563 แบ่งออกเป็น 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรอบรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูระดับประถมศึกษาตอนต้น, หลักสูตรอบรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูระดับประถมศึกษาตอนปลาย, หลักสูตรอบรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และหลักสูตรอบรมการจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ สำหรับครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
โดยมีครูผู้สอน Coding ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมการอบรมกว่า 1.8 แสนคน รวมทั้งศึกษานิเทศก์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และบุคลากรทางการศึกษา ให้ความสนใจเข้าร่วมการอบรมด้วย
ในส่วนการดำเนินการจัดการอบรมครูแบบออนไลน์ ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและมีประโยชน์ ได้รับความรู้ด้านวิทยาการคำนวณอย่างมีคุณภาพ และสามารถนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนได้จริงตามมาตรฐาน วิทยากรสามารถถ่ายทอดความรู้ได้ดี กระชับ ได้ใจความ พร้อมทั้งมีสื่อการสอนและวีดิทัศน์ที่เหมาะสม
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่ายังพบอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป อาทิ ระบบล่าช้าเมื่อต้องรองรับครูจำนวนมาก ความไม่คุ้นเคยของผู้เข้ารับอบรมจากการใช้ระบบออนไลน์ การออกเอกสารรับรองการอบรมเพื่อใช้ประกอบการเลื่อนวิทยฐานะให้ตรงกับความต้องการ เป็นต้น
สำหรับการดำเนินงานในอนาคต จะติดตามผลการจัดอบรม และการนำความรู้ไปจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน รวมทั้งศึกษาวิจัยผลการจัดอบรมต่อการเพิ่มสมรรถนะของครู และทั้งสองหน่วยงานเตรียมแผนพัฒนาการจัดการอบรมในหลักสูตรอื่น ๆ สำหรับผู้บริหารสถานศึกษา และสำหรับครู ในขั้นที่สูงขึ้น อาทิ การจัดการเรียนรู้ภาษา Scratch, Python, วิทยาการข้อมูลปัญญาประดิษฐ์ และแผงวงจรสมองกลฝังตัว เป็นต้น
“หวังว่าการอบรมในครั้งนี้ จะทำให้ครูผู้สอนได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมในการเรียนการสอนในชั้นเรียน และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตามบริบทของพื้นที่ด้วย โดยเฉพาะการออกแบบโครงงานหรือแบบฝึกหัด ที่นำทักษะในชีวิตประจำวันมาผสมผสานกับบทเรียน เพื่อสร้างความน่าสนใจ ความสนุกสนาน และจูงใจให้เด็กมีส่วนร่วม ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกองค์ความรู้และเนื้อหาไปในตัว ที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเด็กมากที่สุด” รมช.ศธ.กล่าว
ขอบคุณที่มา : เพจ อีทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา