รมว.ศธ.ขอครูและนักเรียนอดทนร่วมฝ่าวิกฤติโควิด แม้ไม่อยากเรียนออนไลน์
รมว.ศธ.ขอครูและนักเรียนอดทนร่วมฝ่าวิกฤติโควิด แม้ไม่อยากเรียนออนไลน์

รมว.ศธ.ขอครูและนักเรียนอดทนร่วมฝ่าวิกฤติโควิด แม้ไม่อยากเรียนออนไลน์ เชื่อ ศธ.พยายามแก้ปัญหาการเรียนช่วงวิกฤติอย่างเหมาะสมที่สุด มอบ สพฐ.ศึกษาแนวทางให้เด็กจบการศึกษาในปีนี้แบบอัตโนมัติ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ  รมว.ศึกษาธิการ  เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้สถานศึกษาในสังกัดและในกำกับหยุดการเรียนการสอนใน 28 จังหวัดจนถึงวันที่ 31 ม.ค.2564 ซึ่งจัดให้มีการเรียนการสอนผสมผสานในรูปแบบออนไลน์และการแจกใบงานให้นักเรียนกลับไปทำที่บ้านนั้น ที่ผ่านมา ได้รับทราบปัญหาในการเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวและจำนวนใบงานที่มากเกินไปจนนักเรียนเครียด แต่ต้องยอมรับว่าการเกิดวิกฤติในครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลกและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์อาจเป็นสิ่งใหม่ที่ต้องมีการปรับตัวทั้งครูและนักเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการจะพยายามแก้ไขปัญหาและหาความเหมาะสมสมดุลมากที่สุด  

กรณีมีผู้ปกครองบางกลุ่มเสนอแนวทางการจบการศึกษาภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 ว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรประกาศให้นักเรียนจบการศึกษาในปีนี้ไปเลยจะดีกว่า พร้อมทั้งให้ครูประจำชั้นเป็นผู้ประเมินการเรียนจากการเรียนของเด็กในช่วงที่ผ่านมา ซี่งส่วนใหญ่จัดการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มาแล้วประมาณครึ่งเทอม เนื่องจากขณะนี้ถือว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ยังไม่ดีขึ้น และควรจะมีการปิดไม่ให้จัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนต่อไปนั้น นายณัฏฐพล กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่หลายๆ ประเทศ ที่ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ใช้เพื่อที่จะให้ผู้เรียนจบการศึกษาในปีการศึกษานี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตนได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศึกษาเกี่ยวกับรายละเอียดในเรื่องนี้แล้ว รวมถึงนำการดำเนินการของประเทศต่างๆ มาศึกษาร่วมด้วย ซึ่งเรายังไม่สามารถประกาศได้ว่าจะใช้วิธีอย่างไร เนื่องจากการจบการศึกษายังมีนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีความจำเป็นต้องใช้คะแนนเฉลี่ยสะสมรวม (GPAX) เป็นองค์ประกอบในการพิจารณาเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างละเอียดและถี่ถ้วน โดยคาดว่า สพฐ.จะนำผลการศึกษาเรื่องดังกล่าว มาหารือร่วมกับตนในเร็วๆ นี้

ขอบคุณที่มาและอ่านต่อที่ : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 13 มกราคม 2564

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่