รมว.ศธ.ย้ำรับสมัคร ม.1 และ ม.4 ทางออนไลน์ 3-12 พ.ค. และเปิดสอบปลาย พ.ค.นี้ แต่ไม่สอบออนไลน์เพื่อป้องกันการทุจริต
(17 เมษายน 2563) นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 4/2563 โดยมี รศ.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยนายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบแนวทางการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2563 ของ สพฐ. ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยจะมีการรับสมัครนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ระหว่างวันที่ 3 - 12 พฤษภาคม 2563 ด้วยระบบการรับสมัครออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ พร้อมทั้งมีการกำหนดรูปแบบการตรวจสอบข้อมูล และเอกสารประกอบการสมัครอย่างชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดสอบได้ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ จะมีการแจ้งข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้ปกครองทราบล่วงหน้า
สำหรับวิธีการสอบคัดเลือกนั้น จะมีการจัดห้องสอบและสถานที่สอบ โดยไม่มีการสอบผ่านระบบออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยการจัดห้องสอบอาจจะใช้ห้องเรียนเป็นสถานที่สอบ ห้องละไม่เกิน 20 คน หรือใช้อาคารอเนกประสงค์และห้องประชุมใหญ่ โดยจะมีการเว้นระยะห่างทางสังคมตามมาตรการ Social Distancing สวมหน้ากากอนามัย รวมทั้งมีมาตรการเฝ้าระวัง และคัดกรองก่อนเข้าห้องสอบ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในขณะนั้นด้วย
ส่วนการมอบตัว ของนักเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 คาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2563 เพื่อให้ทันเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563
นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะทำการทดสอบระบบการเรียนออนไลน์ และเรียนผ่านโทรทัศน์ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ โดยทราบดีว่าในบางพื้นที่ อาจจะมีข้อจำกัดในเรื่องของการรับสัญญาณ จึงต้องมีแนวทางในการรับมือ และสร้างความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอนของแต่ละพื้นที่
รับสมัคร ม.1 และ ม.4
ทางออนไลน์ 3-12 พ.ค.
เปิดสอบปลาย พ.ค.นี้
แต่ไม่สอบออนไลน์
เพื่อป้องกันการทุจริต
คาดว่าจะมอบตัวภายใน 15 มิ.ย.
และเปิดเรียน 1 ก.ค.2563
“ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นโอกาสดีที่จะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนออนไลน์และการเรียนผ่านโทรทัศน์ ซึ่งอาจจะนำผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามาวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทาง รูปแบบ เนื้อหา และวิธีการในการจัดการเรียนการสอนด้วยการใช้เทคโนโลยี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาในอนาคตได้ โดยทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ต้องร่วมกันผลักดัน ขับเคลื่อน และแก้ปัญหาการศึกษาไทย พร้อมทั้งใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของบุคลากรและนักเรียนในโรงเรียนเป็นหลัก ตลอดจนดูแลบุคลากรทุกคนให้ได้รับเงินเดือนตามกำหนด เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานด้วย” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
ขอบคุณที่มา : ศธ360องศา