ศธ.จัดทำร่างนโยบายและจุดเน้น ปีงบประมาณ 2565 “ยกกำลังสองการศึกษาไทย (Thailand Education Eco-System : TE2S) สู่ความเป็นเลิศ” นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมหารือคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ
นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา กล่าวในที่ประชุมว่า นโยบายและวิสัยทัศน์ของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เน้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ
อีกทั้งในสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เราเห็นถึงสัญญาณเตือนว่าโลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ประเทศไทยผ่านวิกฤตโควิดมาได้ ก็เพราะการที่มีผู้นำกล้าตัดสินใจ และด้วยความแข็งแกร่งระบบสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของระบบการศึกษาไทยที่สามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ สังเกตได้ว่าเด็กเก่งนิยมเรียนแพทย์ และการเป็นนักศึกษาแพทย์จะได้เรียนกับอาจารย์หมอ และได้ฝึกประสบการณ์จริงในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาล
ดังนั้น หาก ศธ.เร่งพัฒนากำลังคนในสาขาวิชาชีพอื่น ๆ ในแบบเดียวกับพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ก็จะสามารถสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพ มีความเป็นเลิศในการพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งและยั่งยืน
รมว.ศธ. จึงกำหนดยุทธศาสตร์ “ยกกำลังสองการศึกษาไทย (Thailand Education Eco-System : TE2S) สู่ความเป็นเลิศ” โดยกำหนดแนวทางที่สำคัญ เช่น
– จัดตั้งศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (HCEC : Human Capital Excellence Center) เพื่อเป็นศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาวิชาชีพครู โดยปีงบประมาณ 2564 จะจัดตั้ง HCEC กระจายในโรงเรียน 185 ศูนย์ และอีก 100 ศูนย์ในสถาบันการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาและเพิ่มทักษะครูในสาขาวิชาต่าง ๆ ตอบโจทย์ตลาดงาน ศูนย์นี้ทำหน้าที่เป็น Train the Trainer ซึ่งจะช่วยขยายผลพัฒนาครูผู้สอนทั่วประเทศด้วยมาตรฐานเดียวกัน และรวดเร็วมากขึ้น
– พัฒนาแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ (DEEP : Digital Education Excellence Platform) เพื่อบริหารองค์ความรู้ของประเทศ พัฒนาทรัพยากรบุคคลได้ตรงตามทักษะที่ต้องการตามแต่ละช่วงวัย ตอบโจทย์สิ่งที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ซึ่งจะทำงานคู่กับ HCEC ที่ทำงาน On-Site ในขณะที่ DEEP เป็นแพลตฟอร์มที่ทำงาน Online สำหรับครู นักเรียน รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนออนไลน์ได้ เพราะฉะนั้นต่อไปครูจึงเป็นทั้งผู้สอนและผู้เรียน ส่วนสถาบันอาชีวศึกษาก็จะดำเนินการตามแนวทางศูนย์ความเป็นเลิศการอาชีวศึกษา (Excellent Center) เช่น ศูนย์ความเป็นเลิศระบบการราง จะจัดตั้งที่วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี การที่กำหนดศูนย์ความเป็นเลิศแต่ละสาขาวิชาในแต่ละแห่ง ไม่กำหนดให้มีทั้ง 436 แห่ง ก็เพื่อให้แต่ละแห่งมีคุณภาพและความเป็นเลิศในแบบฉบับของตนเอง โดยในวันที่ 23 กันยายนนี้ จะมีการจับคู่จัดตั้ง Excellent Center กับภาคเอกชน 30 แห่ง โดยเชิญนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
– แผนพัฒนารายบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (EIDP : Excellence Individual Development Plan) ซึ่งเป็นแผนพัฒนาความเป็นเลิศที่เปิดโอกาสให้นักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษา สามารถพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศในแบบฉบับของตนเองได้ โดยเชื่อมโยงกับ DEEP
นอกจากนี้ ในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์ หรือ ICT ก็ต้องยกระดับหรือปรับเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด เพราะหลายอุตสาหกรรมในโลกปัจจุบันกำลังเผชิญสภาวะ Digital Disruption หรือการพลิกผันทางดิจิทัล เช่น Netflix ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ หรือใช้บริการทางออนไลน์สั่งอาหารมารับประทานที่บ้านมากขึ้น ฯลฯ
เพราะฉะนั้น ศธ.ต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะการจัดทำระบบฐานข้อมูลด้านการศึกษา (Big Data) เพราะปัจจุบันเรายังอัปเดตข้อมูลปีละ 2 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายนและมิถุนายน แต่เมื่อปรับเป็นระบบ Big Data แล้ว ก็จะทำให้เรามีข้อมูลที่ Realtime ตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้ เป็นตัวอย่างของจิ๊กซอว์สำคัญในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การศึกษายกกำลังสอง ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำแผนงาน การเสนอของบประมาณ ให้สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ของปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ต่อไป
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ศธ 360 องศา วันที่ 26 สิงหาคม 2563