ศธ. ผุดปฏิรูปการศึกษาจังหวัด จัดทำ”ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษาระดับจังหวัด” ครบทุกจังหวัดภายใน 18 เดือน ปลัด ศธ. นำเสนอทิศทางการปฏิรูปการศึกษาจังหวัด หัวข้อ “ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษาระดับจังหวัด” ในการสัมมนาบุคลากรภาครัฐ “ยุทธศาสตร์ชาติ ภาคปฏิบัติ : ร่วมขยับขับเคลื่อนภาครัฐ เพื่อประชาชน (National Strategy in Action: Integrated Implementation for THAIS)” โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ภารกิจ นโยบายและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ ไปสู่การปฏิบัติอย่างมีเอกภาพ มีความร่วมมือของทุกภาคส่วนร่วมกันที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งมีการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเฉพาะพื้นที่ เพื่อการให้บริการด้านการศึกษาที่รวดเร็ว ทั่วถึง และเท่าเทียม เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนเป็นสำคัญ สังคมพึงพอใจ ประเทศได้คนมีคุณภาพ สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน“
กระทรวงศึกษาธิการ จึงแบ่งภารกิจหน้าที่ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ
- งานตามยุทธศาสตร์ เป็นการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ นโยบาย หรือภารกิจที่มอบหมายเป็นพิเศษ
- งานประจำตามหน้าที่ เป็นการปฏิบัติงานประจำ หรืองานตามอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการในสังกัด
- งานหลายจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน เป็นการปฏิบัติงานที่ต้องกำกับ ติดตาม ประสานและร่วมมือ หรือบูรณาการการปฏิบัติงานหลายจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยสำนักงานศึกษาธิการภาค
- งานในพื้นที่จังหวัด เป็นการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัด เพื่อผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน โดยมีคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด (กศจ.) ทำหน้าที่หลักประกอบด้วย 1) การบริหารเชิงยุทธศาสตร์ 2) การพัฒนาการศึกษา3) การบริหารงานบุคคล และมีสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ปฏิบัติภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ
- งานการมีส่วนร่วมและความร่วมมือ เป็นการปฏิบัติงานของส่วนราชการ/หน่วยงาน/หน่วยงานการศึกษา/สถานศึกษาในจังหวัด
การขับเคลื่อนภารกิจทั้ง 5 กลุ่มนี้ จำเป็นใช้ข้อมูลสารสนเทศที่ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน และทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพื่อการวางแผน การประเมินผลและการแก้ไขปัญหาทางการศึกษาในพื้นที่
ดังนั้น จึงเสนอ “การปฏิรูปการศึกษาในจังหวัด ประเด็นการปฏิรูประบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษาระดับจังหวัด” ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ตอบสนองต่อการพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ภายใต้การขับเคลื่อนของคณะกรรมการบริหารข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา ทั้ง 3 ระดับ คือ ระดับกระทรวง ระดับภาค และระดับจังหวัด ที่เกิดขึ้นตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการบริหารข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษา พ.ศ.2560
ซึ่งจะทำให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครอบคลุม ทันต่อการนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหา การวางแผนพัฒนาและการตัดสินใจทางการศึกษา การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
แนวคิด “ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษาระดับจังหวัด” เกิดจากการศึกษา สำรวจ สัมภาษณ์ รวมทั้งการสังเกตจากการทำงานในสถานศึกษาและหน่วยงานในพื้นที่ ซึ่งพบว่าสถานศึกษาและหน่วยงานมีการทำงานประจำอยู่ทุกวัน โดยในแต่ละงานทำให้เกิดข้อมูลทั้งสิ้น เช่น การรับเด็กเข้าเรียน การเช็คชื่อเด็กมาหรือไม่มาเรียน รวมถึงงานทางด้านงบประมาณ พัสดุครุภัณฑ์ หรืองานวิชาการ เป็นต้น และสถานศึกษาจัดส่งข้อมูลให้กับต้นสังกัดอยู่
หากสถานศึกษานำข้อมูลชุดเดียวกัน ส่งให้กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอีกทางหนึ่ง จะทำให้จังหวัดมีข้อมูลที่รวดเร็ว ถูกต้องมากขึ้น ส่งผลให้การแก้ไขปัญหา และใช้ประโยชน์เพื่อการบริหารจัดการศึกษาและการตัดสินใจในพื้นที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้เด็กทุกคนได้รับโอกาส ความเสมอภาคทางการศึกษา เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนเป็นสำคัญ สังคมพึงพอใจ ประเทศได้คนมีคุณภาพ และนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
โดยที่ “ระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารการศึกษาระดับจังหวัด” จะสร้างความเป็นธรรม เสมอภาค และทั่วถึง ในการได้รับบริการทางการศึกษา การบริหารจัดการศึกษาในจังหวัด เชื่อมโยงมาถึงระดับภาค และระดับมีข้อมูลที่พร้อมใช้ของทุกภาคส่วน
แนวทางหรือ Roadmap สำหรับนำ “ระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการศึกษาจังหวัด” ไปดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะสั้น จะมีการนำร่องใน 4 จังหวัด ใช้เวลาประมาณ 9 เดือน
จะสร้างต้นแบบของระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการศึกษาจังหวัด และคัดเลือกจังหวัดนำร่อง เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงให้ได้ระบบที่ตอบสนองต่อความต้องการ และค้นหาแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับใช้เป็นคู่มือหรือแนวทางขยายผลในการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาของจังหวัดให้ครบทุกจังหวัดในระยะต่อไป
ระยะยาว จะดำเนินการขยายผลให้ครบทุกจังหวัด ใช้เวลาประมาณ 18 เดือน
จะเป็นการดำเนินการสร้างระบบข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการศึกษาจังหวัด โดยการนำข้อเสนอแนะและแนวปฏิบัติที่ดี มาปรับปรุงระบบและใช้แนวปฏิบัติที่ดีมาขยายผลในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศให้ครบทุกจังหวัดต่อไป
โดยวางแผนเตรียมเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวสู่การปฏิบัติจริง ประกอบด้วย
- แผนการเตรียมระบบการขับเคลื่อนขยายผลนำหลักการไปสู่การปฏิบัติในทุกระดับ เช่น การจัดทำรายละเอียดของหลักการ ฯ การผลิตสื่อการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจ การคัดเลือกและการฝึกอบรมบุคลากร การจัดทำแนวปฏิบัติที่ดีด้านกระบวนการจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการศึกษาเพื่อการบริหารจัดการการศึกษาจังหวัด เป็นต้น
- แผนเตรียมบุคลากร โดยฝึกอบรมบุคลากร ให้มีทักษะและองค์ความรู้เพื่อการขยายผลในวงกว้าง และการสร้างทีมจังหวัดเรียกว่า “MOE Innovation TEAM”
- แผนการจัดทำคำของบประมาณหมายถึง การเตรียมรายละเอียดโครงการเพื่อเสนอสำนักงบประมาณพิจารณา งบประมาณสำหรับการจัดให้มีเครืองมือ อุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
- แผนการเสนอกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้อง โดยเตรียมการศึกษาวิเคราะห์
- เพื่อยกร่างและเสนอกฎหมายที่จำเป็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการประกาศใช้
ข้อมูล : สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ ศธ360 องศา