สพฐ. จัดสรรงบประมาณให้ สพท. 30 เขต ในพื้นที่นวัตกรรม
“หนุน” และ “นำ” โรงเรียนนำร่องในสังกัด ให้จัดการศึกษาสอดคล้องบริบท ตอบโจทย์ มาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดให้ สพฐ. จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่โรงเรียนนำร่อง สังกัด สพฐ. แต่ละแห่งโดยตรง เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
สพฐ. ได้อนุมัติโอนจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อจัดสรรให้โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2563 รวม 226 โรงรียน จำแนกเป็นโรงเรียนภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จำนวน 222 โรงเรียน และโรงเรียนภายใต้การดูแลของสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ จำนวน 4 โรงเรียน เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษา
การจัดสรรเงินอุดหนุนครั้งนี้ เป็นการจัดสรรให้โรงเรียนนำร่องเป็นวงเงินรวม หรือเรียกว่า Block Grant เพิ่มเติมอีกก้อนหนึ่งจากงบเงินอุดหนุนทั่วไปที่โรงเรียนนำร่องได้รับจากรายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตามปกติอยู่แล้ว (รายการพื้นฐาน 5 รายการ ได้แก่ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน)
การคำนวณสูตรในการจัดสรรงบเงินอุดหนุนครั้งนี้ ได้นำแนวคิดมาจากการหารือกับ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ร่วมประชุมกับ สบน. และ tdri ดังข้อมูลนี้ https://www.edusandbox.com/how2manage-budget/ และการหารือร่วมกันต่อเนื่อง ระหว่าง สบน. และ tdri ดังข้อมูลนี้ https://www.edusandbox.com/budgetv2/ จึงได้สูตรจัดสรรให้โรงเรียนนำร่องในปีงบประมาณ 2563 โรงเรียนนำร่องจะได้รับงบประมาณ อยู่ในช่วง 43,500 – 45,700 บาท เฉลี่ย 44,602 บาท/โรงเรียน ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการในระยะเริ่มต้นในช่วงที่ยังไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายเป็นผู้กำหนดขึ้นโดยความเห็นชอบของสำนักงบประมาณ ตามมาตรา 28 วรรคสอง
เหตุผลสำคัญของการประกาศใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 คือ ต้องการพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อพัฒนาคนไทยให้มีคุณภาพ มีความใฝ่รู้ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการสื่อสาร สามารถอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้ มีความรู้เท่าทันโลก และมีทักษะในการประกอบอาชีพตามความถนัดของผู้เรียนแต่ละคน และให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาให้ได้อย่างแท้จริง
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษา เป็นการนำร่องการกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และให้มีการขยายผลนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนและวิธีการปฏิบัติที่ดีไปใช้ในสถานศึกษาอื่น
นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ในมาตรา 5 ไม่ใช่มุ่งเป้าหมายเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาเฉพาะโรงเรียนนำร่องเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการกระจายอำนาจ ให้อิสระ และเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาให้ “หน่วยงานทางการศึกษา” ด้วย ทั้งนี้ เป็นการมุ่งดำเนินการเพื่อเป็นไปตามเหตุผลและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ข้างต้น
สพฐ. เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนเชิงนโยบายและส่งเสริมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งเลขาธิการ กพฐ. ได้มีนโยบายให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาดำเนินการและขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่อย่างจริงจัง หวังผล โดยเฉพาะการผลักดัน สนับสนุนโรงเรียนนำร่องในสังกัด สพฐ. เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ ดังนั้น สพฐ. โดย ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. จึงอนุมัติจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาใช้ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับโรงเรียนนำร่องในการยกระดับคุณภาพการศึกษา มุ่งให้ผู้เรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ทั้งในด้านความรู้ สมรรถนะ ทักษะ และเจตคติ
นอกจากนั้น งบประมาณที่สนับสนุนให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานี้ยังสามารถใช้ในการหนุนเสริมการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อความเข้มแข็งของโรงเรียนนำร่องและเขตพื้นที่การศึกษา ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อาทิ การนิเทศเพื่อชี้แนะและเป็นพี่เลี้ยงอย่างต่อเนื่องให้กับโรงเรียนนำร่อง เพื่อช่วยปรับหลักสูตรสถานศึกษา ตามมาตรา 25 และมาตรา 26 การจัดการเรียนการสอน ตามมาตรา 34 การใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจัดทำและจัดหาสื่อการเรียนการสอน ตามมาตรา 35 ทั้งนี้ การดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาควรสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัด ในการจัดการศึกษาเพื่อมุ่งให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เหมาะสมสอดคล้องกับอัตลักษณ์ของชุมชนและพื้นที่ ซึ่งการใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรนี้ ควรคำนึงถึงเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ความโปร่งใส และพร้อมให้หน่วยงานภายนอกเข้าไปศึกษากระบวนการและผลการใช้งบประมาณดังกล่าว
ที่มา : https://www.edusandbox.com/7th-apr-block-grant/