สพฐ.ซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล การนับเวลาเรียน และการจัดทำระเบียนแสดงผลการเรียน ปพ.1 ปีการศึกษา 2564
๑. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการวัดและประเมินผล
๑.๑ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้
สถานศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผู้เรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่จําเป็น อย่างมีความหมายตามตัวชี้วัด ๒ ลักษณะ ได้แก่ เน้นตัวชี้วัดต้องรู้และให้บูรณาการตัวชี้วัดควรรู้กับกิจกรรม ภาคปฏิบัติหรือภาระงานของผู้เรียน โดยสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้ทั้ง Online /On Air /On Demand/ On Hand หรือแบบ Blended Learning ระหว่าง Onsite กับ Distance learning ในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของผู้เรียน โดยคํานึงถึงความปลอดภัยของผู้เรียนเป็นสําคัญ
๑.๒ การวัดและประเมินผล
สถานศึกษาสามารถเลือกมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดที่สามารถ วัดและประเมินผลได้จริง คํานึงถึงบริบทของผู้เรียนที่บ้านและความพร้อมของผู้ปกครอง โดยให้การวัด และประเมินผลการเรียนรู้ เป็นบทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาในการประเมินเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน และเพื่อการตัดสินผลการเรียนตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากําหนด โดยสามารถเลือกใช้วิธีการและเครื่องมือวัด และประเมินผลได้ตามความเหมาะสม
๑.๓ การตัดสินผลการเรียน
การตัดสินผลการเรียนระดับประถมศึกษา ตัดสินผลการเรียนเป็นรายปี ระดับมัธยมศึกษาตัดสินผลการเรียนเป็นภาคเรียน โดยสถานศึกษาสามารถกําหนดสัดส่วนคะแนน ระหว่างเรียนและคะแนนปลายปีหรือปลายภาคเรียนได้ตามความเหมาะสม
๑.๓.๑ คะแนนระหว่างเรียน
สถานศึกษาสามารถนําคะแนนระหว่างการจัดกิจกรรม การเรียนทั้งในห้องเรียนแบบ Onsite หรือผสมผสานกับ Distance learning ในแบบต่าง ๆ ที่ครูผู้สอน มอบหมายให้นักเรียนปฏิบัติ เช่น การตอบคําถาม การพูดคุย การนําเสนองาน ฯลฯ ด้วยวิธีการสื่อสาร หลากหลาย เช่น ซูม ไลน์ เฟซบุ๊ค ฯลฯ เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุคุณภาพตามมาตรฐานและตัวชี้วัด ตามที่หลักสูตรกําหนด
๑.๓.๒ คะแนนปลายปีหรือปลายภาคเรียน
สถานศึกษาไม่จําเป็นต้องใช้ข้อสอบ เพียงอย่างเดียว อาจพิจารณาจากผลงาน/ชิ้นงาน แฟ้มสะสมงาน การสอบปากเปล่า ผ่านซูม ไลน์ เฟชบุ๊ค หรือช่องทางอื่น ๆ ได้ตามความเหมาะสมตามบริบทและความพร้อมของสถานศึกษาและผู้เรียน แต่ต้องคํานึงถึง คุณภาพผู้เรียนเป็นสําคัญ
๒. การนับเวลาเรียนและการอนุมัติการจบการศึกษา ปีการศึกษา ๒๕๖๔
๒.๑ การนับเวลาเรียน
การนับเวลาเรียนภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๔ ซึ่งเป็นไปตามประกาศ กระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การเลื่อนเวลาเปิดภาคเรียนที่ ๑ ประจําปีการศึกษา ๒๕๖๔ ให้เริ่มนับเวลาเรียน ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ เป็นต้นไป สําหรับโรงเรียนที่เปิดภาคเรียนก่อนวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๔ ให้เริ่มนับเวลาเรียนตั้งแต่วันที่เปิดภาคเรียน โดยสถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนชดเชยให้ครบตามโครงสร้าง เวลาเรียนที่สถานศึกษากําหนด ส่วนการเปิดปิดภาคเรียนปีการศึกษา ๒๕๖๔ ยังคงเป็นไปตามระเบียบ กระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยปีการศึกษา การเปิดและปิดสถานศึกษา พ.ศ.๒๕๕๙
๒.๒ การอนุมัติการจบการศึกษาภาคเรียนที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๖๔
การอนุมัติการจบการศึกษา ให้สถานศึกษาดําเนินการ ดังนี้
๑) กรณีสถานศึกษาจัดการเรียนการสอนครบตามโครงสร้างเวลาเรียน และเกณฑ์การจบแต่ละระดับ ให้อนุมัติการจบการศึกษาภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕
๒) กรณีนักเรียนมีผลการเรียนไม่สมบูรณ์ (ติด 0 ร มส.) ให้สถานศึกษากํากับ ติดตาม ช่วยเหลือ สอนซ่อมเสริมและดําเนินการวัดและประเมินผลให้เสร็จสิ้นและอนุมัติการจบการศึกษา ภายในวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕
๓. การจัดทําระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.๑) ปีการศึกษา ๒๕๖๔
การจัดทําระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.๑) ตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๖๔ สถานศึกษาไม่ต้อง นําผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มากรอกลงในระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.๑) โดยให้ใส่เครื่องหมายขีด “-” ในช่องผลการทดสอบระดับชาติและช่องสัดส่วนผลการเรียนและผลการทดสอบ ระดับชาติ ทั้งนี้ หากสถานศึกษาใดหรือหน่วยงานใดมีความประสงค์ที่จะใช้ผลการทดสอบทางการศึกษา แห่งชาติขั้นพื้นฐาน ให้แนบใบแจ้งผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ไปกับ ระเบียนแสดงผลการเรียน (ปพ.๑)
ทั้งนี้ ให้คํานึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสําคัญ
ขอบคุณที่มา : สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ.