สพฐ.ประชุมหารือเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน 5 On มอบเขตพื้นที่ สำรวจความพร้อมอุปกรณ์
สพฐ.ประชุมหารือเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน 5 On มอบเขตพื้นที่ สำรวจความพร้อมอุปกรณ์

สพฐ.ประชุมหารือเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน 5 รูปแบบมอบเขตพื้นที่ สำรวจความพร้อมอุปกรณ์

สพฐ.ประชุมหารือเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียน รูปแบบ 5 On มอบเขตพื้นที่ สำรวจความพร้อมอุปกรณ์ 2

วันที่ 21 เมษายน 2564 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 8/2564 เพื่อหารือข้อราชการและโครงการต่างๆ ที่ สพฐ. กำลังดำเนินการ อาทิ งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผลสรุปการประชุมคณะทำงานทบทวนบทบาท ภารกิจ หน้าที่และอำนาจ และโครงสร้างของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ การจัดระบบมาตรฐานการคัดกรอง ป้องกัน COVID-19 ของ สพฐ. การลงเวลาปฏิบัติราชการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบการจองห้องประชุมแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยมีผู้อำนวยการสำนักต่างๆ และบุคลากร สพฐ. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม สพฐ. 1 อาคาร สพฐ. 4 ชั้น 2 กระทรวงศึกษาธิการ

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ในที่ประชุมวันนี้ได้พูดคุยถึงเรื่องของการเตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ซึ่งได้มีการปรับปฏิทินการรับนักเรียน จากเดิมในช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม เลื่อนมาเป็นช่วงวันที่ 4-13 พฤษภาคม โดยไม่ให้กระทบกับการรับเด็กนักเรียนและการเปิดภาคเรียน ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ก็สามารถเปิดเรียนในวันที่ 17 พฤษภาคมได้ตามปกติ

ต่อมาคือการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยเราจะใช้วิธีการเรียนใน 5 รูปแบบเช่นเดิม ดังที่ได้เคยทดลองมาแล้ว นั่นคือ 1. On Site คือการเรียนที่โรงเรียน ซึ่งจะใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนที่ไม่มีการระบาดของโรค 2. Online คือการเรียนผ่านระบบออนไลน์ 3. On Air คือการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) 4. On Demand คือการเรียนผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ และ 5. On Hand เป็นการจัดใบงานเป็นชุดให้นักเรียน

ทั้งนี้ได้แจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ให้ทำการสำรวจความพร้อมของโรงเรียนและนักเรียนในเรื่องอุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน และความพร้อมของทางโรงเรียนที่จะถ่ายทอดการเรียนให้เข้าถึงเด็กทุกคนเป็นรายบุคคล โดยดูว่าวิธีที่เหมาะสมสำหรับเด็กควรใช้วิธีใด ซึ่งจะไม่ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งเท่านั้น ให้โรงเรียนยึดนักเรียนเป็นสำคัญ และจะเน้นการมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองหรือภาคประชาสังคมมากขึ้น เช่น การร่วมมือกับ อสม. ของแต่ละหมู่บ้านที่จะเข้ามาร่วมดูแลในด้านสุขภาพอนามัยและการเรียนการสอน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการของ ศบค. โดยจะทำการสำรวจให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ ก็จะได้ข้อมูลทั้งหมดว่าจะมีเด็กกี่คนและโรงเรียนกี่แห่งที่ใช้รูปแบบการเรียนแต่ละประเภท เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาความวิตกกังวลของผู้ปกครองได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งจะมีการเตรียมแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมไว้เป็นคลังให้คุณครูและทุกโรงเรียนได้เข้ามาเลือกเอาไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเลื่อนสอบครูผู้ช่วย ทั้งกรณีพิเศษ และกรณีทั่วไป โดยจะดูสถานการณ์ แล้วปรับปฏิทินการสอบให้เหมาะสมซึ่งต้องไม่เกินเดือนกันยายน เพื่อให้โรงเรียนมีครูให้ครบ รวมถึงเรื่องของการขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะเพื่อให้ทันใช้ในปีการศึกษา 2565 ซึ่งการทดลองใช้หรือการนำหลักสูตรไปใช้ให้ยึดพื้นที่นวัตกรรมเป็นพื้นที่ในการนำร่องการทดลอง และยังมีเรื่องนโยบายเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข นั่นคือการอ่านออกเขียนได้และการคิดเลขเป็นของนักเรียน โดยจะนำมาเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโรงเรียน พร้อมกับนำวิชาประวัติศาสตร์ชาติไทย หน้าที่พลเมือง หรือจิตอาสา โดยเฉพาะพระบรมราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 นำมาปฏิบัติจริงในสถานศึกษาให้เกิดเป็นรูปธรรม” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขอบคุณที่มา : Facebook ประชาสัมพันธ์ สพฐ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่