สพฐ.ลุยพัฒนาครู 3 ส่วน ภาษาอังกฤษ ดิจิทัล และหลักสูตรฐานสมรรถนะ เน้นวิธีการเรียนการสอนแบบ Active Learning
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมทางไกล ชี้แจงแนวทางการติดตามค้นหาเด็กตกหล่นและเด็กออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ณ ห้องประชุม สพฐ.2 อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ
โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมทางไกลผ่านระบบ Video Conference และรับชมการถ่ายทอดสดทาง OBEC Channel พร้อมกันด้วย. นายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวถึงแนวทางการดำเนินงานในภาพรวมว่า การพาน้องกลับมาเรียน เป้าหมายคือให้เด็กทุกคนได้เรียนหนังสืออย่างมีความสุข โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในสถานศึกษา
ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการจัดตั้งศูนย์ MOE Safety Center มีวัตถุประสงค์ให้โรงเรียนเป็นสถานศึกษาปลอดภัยในทุกด้าน รวมถึงความปลอดภัยระหว่างครูและเด็ก หรือผู้อำนวยการและครู เช่น การล่วงละเมิด เด็กจมน้ำ ความปลอดภัยด้านเทคโนโลยี และภัยที่เกิดจากธรรมชาติ สำหรับการจัดการเรียนการสอนใน 5 รูปแบบ (On-Site, On-Air, Online, On-Demand และ On-Hand) ขอความร่วมมือจากศึกษานิเทศก์ ให้ถอดบทเรียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในห้วงสถานการณ์โควิด ซึ่งมีบริบทที่แตกต่างกัน ว่ามีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร โดยให้ถอดบทเรียนแบบแยกเป็นช่วงชั้น และรายงานให้ สพฐ. ได้รับทราบ
ในส่วนของโรงเรียนคุณภาพ เราจะแบ่งเป็น โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล โรงเรียนดี 4 มุมเมือง และโรงเรียน Stand Alone โดยให้ร่วมกันวิเคราะห์ จำนวนโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ว่ามีโรงเรียนที่สามารถพึ่งตนเองได้จำนวนเท่าไหร่ และจะพัฒนาตนเองได้อย่างไร ส่วนโรงเรียนที่ไม่สามารถพึ่งตนเองได้นั้นจะต้องพึ่งใคร หรืออาจต้องพึ่งโรงเรียนอื่นที่มีความพร้อม และต้องใช้ทรัพยากรร่วมกัน ในส่วนนี้ทางสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ต้องวิเคราะห์ว่าจะมีโรงเรียนหลักเท่าไหร่ มีโรงเรียนที่จะเข้ามาใช้ทรัพยากรร่วมกันกี่โรงเรียน และเร่งจัดทำแผนงบประมาณเพื่อบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการพัฒนาครู เราจะแยกเป็น 3 ส่วน คือ ภาษาอังกฤษ ดิจิทัล และหลักสูตรฐานสมรรถนะ โดยเน้นวิธีการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้ครูได้พัฒนาตามกรอบการพัฒนา ซึ่งทาง สพฐ. จะพัฒนาแอปพลิเคชันให้ครูได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ โดยให้ศึกษานิเทศก์ทำงานร่วมกับโรงเรียนในการปรับการสอนแนวใหม่และเป็นแบบอย่างให้กับโรงเรียนอื่น ส่วนในเรื่องของหนี้สินครู ขอให้สำนักงานเขตพื้นที่ฯจัดตั้งศูนย์เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาหนี้สินครู รวมถึงการพิจารณาลดดอกเบี้ยสหกรณ์ว่าสามารถทำได้หรือไม่
“สุดท้ายคือเรื่องของการติดตามงานประจำ โดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเนื่องจากมีการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว รวมถึงการตรวจสอบอัตรากำลัง การจัดทำสัญญาจ้างของพนักงานและลูกจ้าง ให้จำแนกเป็นกลุ่ม และการสอบครูผู้ช่วย
ซึ่ง สพฐ. ใช้ฐานจังหวัดเป็นฐานในการสอบ ให้เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ หากมีปัญหาใดหรือมีชื่อผู้สมัครสอบตกหล่น จะได้ทำการแก้ไขโดยเร็ว ในส่วนของการจัดสอบ ให้แบ่งเป็น 3 กลุ่มตามมาตรการป้องกันโควิด-19 คือ ห้องสอบปกติ ห้องสอบสำหรับผู้ตรวจ ATK แล้วมีผลเป็นบวก และห้องสอบสำหรับผู้ที่เคยติดเชื้อ” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณที่มา : Facebook อีทีวีแม็ค เวทีสาธารณะเพื่อการศึกษา