สมศ. ประกาศหยุดการประเมินรอบสี่ช่วงโค้งสุดท้ายปี 63 หลังศธ. สั่งยุติการประเมิน พร้อมเตรียมปูทางสู่การประเมินรอบห้า
สมศ. เปิดผลประเมินรอบ 4 “ปฐมวัย – ขั้นพื้นฐาน – อาชีวะ” พบส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก พร้อมเตรียมเดินหน้าประเมินรอบห้าปี 64 ดึงออนไลน์และงานวิจัยช่วยทำงานมากขึ้น
กรุงเทพฯ 26 มิถุนายน 2563 – สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. หยุดการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ตามข้อเสนอแนะของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สถานศึกษานำเวลามาใช้ในการเรียนการสอนในช่วงการเปิดภาคเรียนใหม่ เผยเตรียมนำเวลาที่เหลือในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน เพื่อพัฒนารูปแบบและแนวทางการประเมินรอบห้า ที่จะมีการนำระบบออนไลน์ งานวิจัย รวมถึงผู้ประเมินที่มีความรู้ความเข้าใจในด้าน IT มาใช้ในการประเมินมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้โชว์ผลการประเมินรอบสี่ที่ผ่านมาของการศึกษาปฐมวัย การศึกษาขั้นพื้นฐาน และการอาชีวศึกษา ที่ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีมาก รวมถึงผลประเมินที่สถานศึกษาต่าง ๆ ต้องนำไปปรับใช้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสถานศึกษาที่ได้มีการส่งรายงานประเมินตนเอง (SAR) เข้ามาในระบบออนไลน์ของ สมศ. ในช่วงที่ผ่านมา สมศ.ได้วิเคราะห์เอกสารทั้งหมดเบื้องต้นไปแล้ว แต่จำเป็นต้องยุติเพื่อให้สอดรับกับตามเจตนารมณ์ของกระทรวงศึกษาธิการ
นายจรูญ ชูลาภ รักษาการประธานคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (คณะกรรมการ สมศ.) กล่าว่า การประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. ได้ดำเนินการประเมินคุณภาพภายนอก และรับรองผลให้แก่สถานศึกษาไปแล้วว่า 3,569 แห่ง และในปี 2563 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ สมศ. มีเป้าหมายที่จะประเมินคุณภาพภายนอกให้แก่ให้แก่สถานศึกษาตามที่ต้นสังกัดส่งรายงานการประเมินตนเอง ( SAR) เข้ามาจำนวนกว่า 6,649 แห่งให้แล้วเสร็จ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้กำกับดูแล สมศ. จึงมีข้อเสนอแนะให้สมศ.หยุดการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ไปก่อน เพื่อให้สถานศึกษาได้เตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ (New Normal) ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นทางคณะกรรมการสมศ. จึงมีมติเห็นชอบให้ สมศ. หยุดการประเมินรอบสี่ ตามข้อเสนอแนะจากทางรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งระยะเวลาที่เหลือต่อจากนี้ คณะกรรมการสมศ. ได้มีมนโยบายการให้สมศ. เตรียมความพร้อมพัฒนาเกณฑ์การประเมินภายนอกสำหรับการประเมินภายนอกรอบห้า ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2564 ด้วยการพัฒนารายละเอียดรูปแบบการประเมินให้สอดคล้องกับระบบการศึกษายุคใหม่ รวมไปถึงการพัฒนาระบบการประเมินคุณภาพโดยการใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ มุ่งเน้นการประเมินเพื่อการพัฒนาคุณภาพ และลดภาระให้แก่ครูผู้สอน สถานศึกษาเป็นสำคัญ
“สำหรับต้นสังกัดที่ส่ง SAR เข้ามายัง สมศ. แล้วนั้นคณะกรรมการสมศ. ได้มีข้อเสนอแนะให้ทางสมศ. เก็บ SAR ไว้สำหรับใช้ในการวิเคราะห์ประกอบการประเมินภายนอกรอบถัดไป โดยได้มอบหมายให้สมศ. ไปศึกษาว่าแนวทางดังกล่าวสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากไม่ขัดต่อกฎหมายก็ให้สามารถดำเนินการได้เลย ซึ่งการเก็บ SAR ในรอบสี่ไว้สำหรับพิจารณาในรอบต่อไปนั้นจะช่วยให้การประเมินคุณภาพภายนอกในรอบห้าสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงก่อนที่จะได้รับข้อเสนอแนะจากทางรัฐมนตรีช่วย สมศ. ได้ดำเนินการวิเคราะห์รายงานการประเมินตนเอง (Pre-Analysis) ตามที่ต้นสังกัดที่ส่ง SAR เข้ามา และตั้งเป้าว่าจะประเมินผลและรับรองคุณภาพให้เสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2563 รวมไปถึงการกำหนดแนวทางเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สมศ. ยังได้เตรียมการดำเนินการด้วยการงดให้ผู้ประเมินลงพื้นที่ แต่ให้สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านทางระบบวีดีโอ คอนเฟอเรนซ์ (Video Conference) หรือโทรสอบถามในกรณีที่บางตัวชี้วัดที่ยังมีข้อสงสัย ส่วนสถานศึกษาที่พิจารณาแล้วเห็นว่าต้องลงพื้นที่ก็ให้สมศ. ดำเนินการตามขั้นตอน พร้อมทั้งประสานหน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษาเพื่อลงพื้นที่ตามปกติในช่วงที่มีการเปิดภาคเรียน ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้การทำงานของสมศ.รวดเร็ว สอดคล้องกับมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในแนวทางที่กล่าวมานี้ บางส่วนอาจถูกนำไปใช้กับการประเมินรอบใหม่ เพื่อให้กิจกรรมดังกล่าวมีความว่องไว คล่องตัว และสร้างความมั่นใจให้กับต้นสังกัดและสถานศึกษาให้มากกว่าเดิม” นายจรูญ กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนางสาวขนิษฐา ตั้งวรสิทธิชัย รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า การประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบสี่ที่ผ่านมานั้น สมศ. ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการเข้าไปประเมิน และให้คำแนะนำ เพื่อยกระดับและพัฒนาสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นปีแรกของการประเมินรอบสี่สมศ. ได้มีการปรับปรุงเกณฑ์ อบรมผู้ประเมินภายนอกมาอย่างต่อเนื่องก่อนที่จะลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานศึกษาที่ส่งรายการงานการประเมินตนเอง (SAR) เข้ามา โดยจากการสรุปผลการประเมินในภาพรวมนั้นพบว่า สถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินภายนอกในแต่ละดับได้แก่ การศึกษาระดับปฐมวัย การศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน การศึกษาด้านการอาชีวศึกษา ส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก ผลการประเมินเป็นที่น่าพอใจ นอกจากนี้ยังพบว่า การให้ข้อเสนอแนะแก่สถานศึกษาศึกษาของผู้ประเมินภายนอกเป็นประโยชน์ และสถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงเกือบทุกสถานศึกษา ดังนี้
- การศึกษาปฐมวัย คุณภาพผู้เรียนส่วนใหญ่ และกระบวนการบริหารจัดการสถานศึกษา รวมถึงการจัดการประสบการณ์ที่เน้นเด็กเป็นสำคัญอยู่ในระดับดีมาก สำหรับจุดเด่นของสถานศึกษาในระดับปฐมวัย คือ ผู้บริหารมีภาวะผู้นำ มีความรู้ความสามารถในการบริหารสถานศึกษา รวมทั้งครูผู้สอนมีคุณวุฒิตรงตามสาขา มีทักษะด้านไอที ส่งผลให้สามารถนำความรู้ที่แปลกใหม่พัฒนารูปแบบการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้านข้อเสนอแนะที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจำเป็นจะต้องนำไปปรับใช้นั้นควรมีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ให้มากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการนนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ในการเรียนการสอน
- ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานพบว่าคุณภาพผู้เรียนส่วนใหญ่ การบริการจัดการ และประสบการณ์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ทั้งหมดอยู่ในระดับดีมาก ด้านความโดดเด่นเฉพาะทางของสถานศึกษามีความโดดเด่นทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ผู้บริหารมีความรู้ความสามารถในการบริหารสถานศึกษา ครูผู้สอนมีคุณวุฒิตรงสาชา มีทักษะด้านไอที ในส่วนของข้อเสนอแนะนั้นสถานศึกษาในระดับขั้นพื้นฐานควรมีการปรับการจัดการเรียนการสอนให้เป็นแบบ Active learning นำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนเพิ่มมากกว่าเดิม รวมถึงนำแนวคิดชุมชนแห่งการเรียนรู้มาใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนของผู้เรียน
- การอาชีวศึกษาจากผลการประเมินที่ผ่านมาพบว่า ผลการประเมินของอาชีวศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในระดับดีมาก ไม่ว่าจะเป็นความรู้ของผู้สำเร็จการศึกษา ทักษะและการประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานของผู้สำเร็จการศึกษา ประสิทธิภาพของหลักสูตร และการบริการจัดการสถานศึกษา โดยจุดเด่นที่พบจากการประเมินที่ผ่านมาวิทยาลัยอาชีวศึกษามีการร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สถานประกอบการในหลาย ๆ ด้าน ตลอดจนการจัดกิจกรรมหรือโครงการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน ส่วนข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินยังเห็นว่าควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกิจกรรมหรือโครงการที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านวิชาชีพให้กับผู้เรียนอย่างเพียงพอ
“ในช่วงเวลาที่เหลือสำหรับการหยุดการประเมินภายนอกรอบสี่นั้น สมศ.จะเร่งพัฒนาเกณฑ์การประเมินในรอบถัดไป รวมถึงนำข้อดี และข้อคิดเห็นต่าง ๆ จากสถานศึกษาที่มีต่อ สมศ. ผู้ประเมิน และระบบที่ใช้ในปัจจุบันมาพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ความเข้าใจในด้าน IT ความเข้าใจในบริบทของการศึกษาและสถานศึกษาที่เปลี่ยนแปลง เกณฑ์การประเมินที่เหมาะสม งานวิจัย รวมถึงแนวทางการประเมินเพื่อพัฒนาที่สามารถสะท้อนความเป็นมืออาชีพของ สมศ.ในอนาคต สำหรับสถานศึกษาที่ได้มีการส่งรายงานประเมินตนเอง (SAR) เข้ามาในระบบออนไลน์ของ สมศ.นั้น ขอแจ้งให้ทราบว่าสมศ. ได้พิจารณาเอกสารทั้งหมดเบื้องต้นไปแล้ว แต่ในขั้นตอนต่อไปจำเป็นต้องหยุดการประเมินตามเจตนารมณ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งหวังให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่” นางสาวขนิษฐา กล่าวสรุป
สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา โทรศัพท์ 0-2216-3955 หรือเข้าไปที่ www.onesqa.or.th
#สมศ #หยุดประเมินรอบสี่ #กระทรวงศึกษาธิการ #ONESQA #JCCOTH