สรุปความเห็นร่าง พรบ.ศึกษาชาติชี้กว่า 90% ค้านเปลี่ยน ‘ผอ.’ เป็น ‘ครูใหญ่’และ“ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู”
สรุปความเห็นร่าง พรบ.ศึกษาชาติชี้กว่า 90% ค้านเปลี่ยน ‘ผอ.’ เป็น ‘ครูใหญ่’และ“ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู”

สรุปความเห็นร่าง พรบ.ศึกษาชาติชี้กว่า 90% ค้านเปลี่ยน ‘ผอ.’ เป็น ‘ครูใหญ่’และ“ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” หนังสือพิมพ์ มติชน 19 พฤศจิกายน 2562 นายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า จากที่ สกศ.ได้จัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ฉบับใหม่ 2 ครั้ง คือ ที่กรุงเทพฯ ช่วงเดือนกันยายน และ จ.อุดรธานี เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้น สกศ.จะรวบรวม และบันทึกข้อคิดเห็นเสนอนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สัปดาห์หน้า

ประเด็นที่มีผู้แสดงความคิดเห็น

โดยประเด็นที่มีผู้แสดงความคิดเห็นกันมากคือ กว่า 90% ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนชื่อเรียก “ผู้อำนวยการสถานศึกษา” เป็น “ครูใหญ่” และการเปลี่ยน “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู” เป็น “ใบรับรองความเป็นครู” และยังมีผู้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าควรทำให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูมีความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่ได้มาแล้วไม่ได้ใช้ หรือมีไว้ให้ต่ออายุเมื่อหมดอายุเท่านั้น

ความกังวลเรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ.

บางส่วนกังวลเรื่องการปรับโครงสร้าง ศธ.ที่ต้องการให้โครงสร้างเป็นเอกภาพนั้น จะทำให้โครงสร้าง ศธ.เป็นอำนาจเชิงเดี่ยว โดยยึดปลัด ศธ.คนเดียว ถือเป็นการรวบอำนาจสู่ส่วนกลางหรือไม่ รวมถึง มาตรา 40 ที่ระบุว่า คุรุสภานอกเหนือจากการจะดูแลเรื่องการประกอบวิชาชีพแล้ว ต้องดูแลเรื่องสวัสดิการครูด้วยนั้น มีผู้กังวลว่าจะเป็นการยุบสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ไปรวมกับคุรุสภาหรือไม่ มีผู้เสนอให้ระบุชัดเจนไปเลย เช่น ให้ สกสค.ทำหน้าที่ดูแลเรื่องสวัสดิการ เป็นต้น และบางเรื่องก็เป็นความเข้าใจผิด เช่น การตั้งสำนักงานนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งทำให้ซ้ำซ้อนกับ สกศ.แต่ความจริงแล้วเป็นการปรับสถานะ สกศ.เป็นสำนักงานนโยบายการศึกษาแห่งชาติ เรื่องต่างๆ เหล่านี้ จะบันทึกทำความเข้าใจให้ชัดเจนด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกา ซึ่ง ศธ.ต้องไปเสนอผลการจัดเวทีสาธารณะ และชี้แจงร่างกฎหมายต่อไป

ที่มา หนังสือพิมพ์ มติชน 19 พฤศจิกายน 2562

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่