“คุรุสภา”เดินหน้าจัดสอบตั๋วครู ครั้งที่ 2 คาดเลื่อนสอบเป็นเดือน พ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ดร.ดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้ข้อสรุปการจัดการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครู ครั้งที่ 2/2564 แล้ว โดยดำเนินการตามมติคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 5/2564 ที่เห็นชอบแนวทางการพัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยยกเลิกการสอบ “วิชาเอก” และให้ดำเนินการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ตั้งแต่การสอบครั้งที่ 2 เป็นต้นไป พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ประสานกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ในการสร้างข้อสอบตามที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการอำนวยการทดสอบเพื่อขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเรียบร้อยแล้ว ส่วนเรื่องกำหนดวันสอบครั้งที่ 2 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา จะหารือกับ สทศ. ก่อนเสนอต่อประธานกรรมการคุรุสภาพิจารณา ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนพฤศจิกายน 2564 จากเดิมกำหนดที่จะสอบในเดือนตุลาคมนี้
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า การทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูฯ ครั้งที่ 2 จะยังคงองค์ประกอบของการทดสอบและประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูตามมาตรฐานวิชาชีพครู ที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนดไว้ โดยให้ทดสอบ 2 ส่วน คือ ด้านความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ จำนวน 4 วิชา ได้แก่ วิชาการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร, การใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อการสื่อสาร, การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการศึกษา, และวิชาชีพครู และการประเมินสมรรถนะทางวิชาชีพครูด้านการปฏิบัติงานและการปฏิบัติตนใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดการเรียนรู้, ด้านความสัมพันธ์กับผู้ปกครองและชุมชน และด้านการปฏิบัติหน้าที่ครูและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
ดร.ดิศกุล กล่าวด้วยว่า ส่วนประเด็นที่ประธานกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) เห็นว่าการสอบวิชาเอก มีความสำคัญอย่างยิ่งในการตรวจสอบคุณภาพครูว่ามีความรู้ในเนื้อหาวิชาที่สอนมากน้อยเพียงใดนั้น ขอชี้แจงว่าคณะกรรมการคุรุสภา เห็นความสำคัญของการทดสอบวิชาเอกและมีการตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ไว้ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไปดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 1 คณะ เพื่อปรับปรุงพัฒนาหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูระบบใหม่ ที่ระบุสาขาวิชาเฉพาะ หรือ ระบุความเฉพาะทางของผู้มีใบอนุญาตฯ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยการใช้ครูที่ตรงหรือสัมพันธ์กับสาขาวิชาเฉพาะ หรือ ความเฉพาะทางที่ระบุในใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูต่อไป
“การพัฒนาระบบการออกใบอนุญาตฯ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายผลิตครู หน่วยงานผู้ใช้ครู ที่ต้องร่วมกันสร้างคุณภาพครูรุ่นใหม่ที่สอดคล้องสัมพันธ์กันทุกฝ่าย และเชื่อมโยงกับระบบการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ที่แสดงถึงความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพครู และองค์ความรู้ในสาขาวิชาเอกหรือสาขาวิชาเฉพาะของผู้ได้รับใบอนุญาตฯ ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดขอบเขตการใช้ครูที่ตรง หรือ สัมพันธ์กับสาขาวิชาเอก หรือ สาขาวิชาเฉพาะของผู้มีใบอนุญาตฯ มากขึ้น และจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาของไทยในภาพรวม” ดร.ดิศกุล กล่าว
ต่อข้อถามการยกเลิกเกณฑ์การทดสอบวิชาเอก เกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ นั้น ดร.ดิศกุล กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การยกเลิกการสอบวิชาเอกเป็นเรื่องของหลักกฎหมายที่ใช้ดุลพินิจตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภาในการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อควบคุมคุณภาพของผู้ประกอบวิชาชีพครู โดยไม่ได้ละเลยหลักการทางวิชาการและหลักการของวิชาชีพครู ทั้งนี้ นอกจากการออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โดยคุรุสภาแล้ว การคัดกรองผู้ประกอบวิชาชีพครู ยังมีกระบวนการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูผู้ช่วยของหน่วยงานผู้ใช้ครูสังกัดต่าง ๆ เพื่อคัดเลือกผู้มีความรอบรู้และลุ่มลึกในเนื้อหาวิชาที่สอนเข้าเป็นครู ซึ่งทำให้ได้คนที่มีคุณภาพตามที่หน่วยงานต้องการ.
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ออนไลน์ วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 10:29 น.