สอศ.เดินหน้าขับเคลื่อนเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ ตั้งเป้า 50:50 สอศ.เดินหน้าทำความเข้าใจขับเคลื่อนเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพ ตั้งเป้า 50:50 ไม่ไกลเกินฝัน ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจ
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นประธานเปิดการประชุมขับเคลื่อนจุดเน้นการเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพ ปีการศึกษา 2563 2563 (สายอาชีวศึกษา 50 : 50 สายสามัญ) โดยมีศึกษาธิการภาค ผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษาอาชีวศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)ร่วมประชุม
โดย นายณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตผู้เรียนด้านอาชีวศึกษาเพื่อรองรับการจ้างงาน ทั้งภาคธุรกิจบริการ ภาคอตสาหกรรม และภาคการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอาชีพที่เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (First S-Curve, New S-Curve) ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของสถานประกอบการ
เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า สอศ.ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการผลิตและพัฒนากำลังคนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้นักเรียนเกิดความสนใจหันมาเรียนสายอาชีพมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพ ปีการศึกษา 2563 (สายอาชีวศึกษา 50 : 50 สายสามัญ) ซึ่งการจะเพิ่มปริมาณผู้เรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายได้จะต้องได้รับความร่วมมือจาก สพป. และ สพม. ในการสนับสนุน ส่งเสริม ในการจัดแนะแนวการศึกษาต่อสายอาชีพในรูปแบบหรือวิธีที่หลากหลาย
“ผมมั่นใจว่าการประชุมขับเคลื่อนจุดเน้นการเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพ ปีการศึกษา 2563 (สายอาชีวศึกษา 50 : 50 สายสามัญ) ครั้งนี้ จะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทำความเข้าใจเรื่องการเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีวศึกษา พร้อมทั้งวางแผนการรับนักเรียนและแนวทางปฏิบัติที่ตรงกัน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับนักเรียน นักศึกษา ประจำปีการศึกษา 2563 ต่อไป”นายณรงค์กล่าว
อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากเห็นเพื่อให้การเพิ่มปริมาณผู้เรียนสายอาชีพประสบความสำเร็จได้ คือ การทำงานของทุกภาคส่วนต้องบูรณาการร่วมกัน ช่วยเหลือกัน พูดคุย หารือกันแบบพี่แบบน้องไม่ใช่แย่งกันรับเด็ก ขณะที่ทุกวิทยาลัยจะต้องมีเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจน ซึ่งแต่ละแห่งแต่ละพื้นที่ก็จะไม่เหมือนกัน จึงต้องเป็นเรื่องของความร่วมมือกันของทุกฝ่าย และ สุดท้ายเมื่อมีการขับเคลื่อนเรื่องนี้ จำนวนเด็กจะต้องเพิ่มมากขึ้น ทำให้ภาระของวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น
ทาง สอศ.พร้อมที่จะให้การสนับสนุน อำนวยความสะดวกให้วิทยาลัยทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในสาขาที่ไม่ค่อยมีเด็กสนใจเรียน อย่างสาขาการเกษตรและการประมง ซึ่งตนได้คุยเป็นภายในระดับนโยบายวิทยาลัยเหล่านี้แล้ว ว่า จะสนับสนุนเด็กเพื่อเป็นการลดภาระเด็ก เพื่อให้เด็กที่สนใจมาเรียนอย่างเต็มที่
ขอบคุณที่มารายละเอียดของข่าว : เดลินิวส์ออนไลน์ 7 กุมภาพันธ์ 2563