เล็งสอบครูผู้ช่วย กศน. 891 อัตรา เร่งสร้างความมั่นคงครู กศน.
เล็งสอบครูผู้ช่วย กศน. 891 อัตรา เร่งสร้างความมั่นคงครู กศน.

เล็งสอบครูผู้ช่วย กศน. 891 อัตรา เร่งสร้างความมั่นคงครู กศน.เหตุเสี่ยงสอนเด็กเร่ร่อน-ทำงานกลางคืน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดทำหลักสูตรกัญชาเสร็จสิ้นแล้ว อยู่ระหว่างการทำข้อตกลงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมปลาย สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ชื่อรายวิชา ทช33098 กัญชาและกัญชงศึกษา เพื่อใช้เป็นยาอย่างชาญฉลาด ซึ่งพร้อมใช้จัดการเรียนการสอนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ทันที โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ ทักษะการแสวงหาความรู้ และการวิเคราะห์ ให้คำแนะนำการใช้กัญชาเป็นยาอย่างถูกต้อง ให้ตระหนักถึงโทษ และประโยชน์ของกัญชาและกัญชง ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นการเตรียมความพร้อมให้สังคมไทย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้กัญชาและกัญชงในการวิจัย และทางการแพทย์ได้ โดยผู้เรียนที่ศึกษาหลักสูตรนี้ จะมีความเข้าใจว่าเหตุใดต้องเรียนรู้กัญชาและกัญชง ซึ่งเป็นพืชที่มีทั้งโทษ ผลข้างเคียง และมีประโยชน์

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ปลูก และใช้พืชเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน แต่กัญชาและกัญชงได้รับอนุญาตให้ใช้กับผู้ป่วย ในคลินิกกัญชาของโรงพยาบาลที่ได้รับอนุญาตให้รักษาในโรคแผนปัจจุบัน และการแพทย์ทางเลือกเท่านั้น ผู้เรียนจึงควรรู้เท่าทัน และไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย ซึ่งการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว พัฒนาภายใต้คำแนะนำ และการตรวจสอบคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญด้านในด้านต่างๆ เพื่อให้หลักสูตรมีประสิทธิภาพต่อการเรียนรู้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ กศน.ได้อบรมครูเกือบ 600 คน เพื่อสอนหลักสูตรนี้แล้ว นอกจากนี้ ดิฉันได้มอบหมายให้นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน.หาทางเปิดหลักสูตรสอนให้กับคนทั่วไปด้วย เนื่องจากมีคนสนใจเรียนหลักสูตรนี้มาก” นางกนกวรรณ กล่าว

นางกนกวรรณกล่าวอีกว่า หลังจากตนลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาของพี่น้องชาว กศน.ใจจังหวัดต่างๆ ได้พบปัญหามากมาย เช่น จากการลงพื้นที่ภาคใต้เมื่อเร็วๆ นี้ ครู กศน.เร่งรัดดำเนินการในการสอบครูผู้ช่วย ซึ่ง กศน.เพิ่งได้รับการเพิ่มอัตราข้าราชการครู กศน.จำนวน 891 อัตรา โดยจะเริ่มจัดสอบในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ ตนจะหาทางเพิ่มความั่นคงให้กับครู กศน.ที่สอนเด็กเร่ร่อนด้วย เพราะเด็กเหล่านี้มีความเปราะบาง เช่น ประสบปัญหาในบ้านแล้วหนีออกมาก หรือมีปัญหาที่ไม่สบายใจจึงออกมาเร่ร่อน ดังนั้น เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา แก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ไม่ให้เด็กกลุ่มนี้ต้องอยู่ในความเสี่ยง ศธ.และเครือข่ายองค์กรทำงานเพื่อเด็ก จะร่วมพัฒนาระบบช่วยเหลือ และสนับสนุนด้านการศึกษา ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ ให้แก่เด็ก และเยาวชนกลุ่มนี้ โดยสอดคล้องกับความถนัด และศักยภาพเป็นรายกรณี เพราะเด็กและเยาวชนแต่ละคนมีสภาพปัญหา และความจำเป็นที่แตกต่างกันไป โดยครูที่เข้าไปช่วยเหลือ และสอน ต้องทำให้เด็กเหล่านี้ไว้วางใจ และเปิดใจ สอนให้เด็กมีอาชีพ อยู่รอดในสังคมได้ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่เป็นปัญหากับสังคม ซึ่งครูเหล่านี้มีความเสี่ยงมาก เพราะต้องออกไปทำงานตอนกลางคืน จึงต้องเร่งสร้างความมั่นคงให้กับครูด้วย

นางกนกวรรณกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ได้พัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาทั้ง 20 แห่ง สังกัด กศน.ให้เป็นแหล่งสร้างการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วย โดยร่วมมือกับศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO SEPS) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เข้ามาพัฒนาศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ทุกช่วงวัย ที่เด็ก และผู้สูงอายุ สามารถหาความรู้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาได้ตลอดเวลา

ขอบณที่มารายละเอียดข่าว : มติชนออนไลน์ 27 มกราคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่