แนวทางการประเมิน NT ชั้นป.3 และการประเมิน RT ชั้นป.1 ปีการศึกษา 2563
แนวทางการประเมิน NT ชั้นป.3 และการประเมิน RT ชั้นป.1 ปีการศึกษา 2563

แนวทางการประเมิน NT ชั้นป.3 และการประเมิน RT ชั้นป.1 ปีการศึกษา 2563 ซึ่งในปีการศึกษา 2563 สทศ.สพฐ. ยังคงมีการดำเนินการประเมิน NT และ RT ปีการศึกษา 2563

เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เพจ วิษณุ ผอ.สทศ. ได้โพสต์ชี้แจงแนวทางดำเนินงานประเมินคุณภาพผู้เรียน (NT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และการประเมินความสามารถด้านการอ่านของผู้เรียน (RT) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2563 รายละเอียดดังนี้

1.วัตถุประสงค์ของการประเมิน NT และ RT เพื่อตรวจสอบความสามารถพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ของผู้เรียน ทั้งในด้านการอ่าน การเขียน และการคิดคำนวณ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อให้ครูผู้สอนมีข้อมูลความสามารถด้านต่าง ๆ ของผู้เรียน สำหรับนำไปใช้ในการวางแผนการจัดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล และทราบถึงสาระการเรียนรู้ที่ต้องปรับปรุงและพัฒนา นำข้อมูลไปสู่การปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนในปีการศึกษาถัดไป อีกทั้งทำให้ผู้ปกครองและนักเรียนได้รู้จุดที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพื่อนำไปสู่การวางแผนพัฒนาผู้เรียนในระดับชั้นที่สูงขึ้น

2.หลักการและแนวคิดของการประเมิน NT และ RT เป็นการประเมินที่มุ่งเน้นการตรวจสอบคุณภาพผู้เรียนตามมาตรฐานและตัวชี้วัด วินิจฉัยสิ่งที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคล เน้นนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนในระดับชั้นเรียนที่สูงขึ้น เตรียมความพร้อมผู้เรียนก่อนการเรียนในปีการศึกษาต่อไป ครูผู้สอนสามารถนำผลการประเมินไปใช้ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน และวางแผนพัฒนาคุณภาพผู้เรียนเป็นรายบุคคล

3.กรอบการประเมิน NT มี 2 ด้าน คือ ความสามารถด้านภาษาไทย และความสามารถด้านคณิตศาสตร์ ตามมาตรฐานและตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และกรอบการประเมิน RT มี 2 ด้าน คือ ความสามารถด้านการอ่านออกเสียง และความสามารถด้านการอ่านรู้เรื่อง ที่เน้นการประเมินภาคปฏิบัติ (Performance Assessment)

4.กลุ่มเป้าหมายการประเมิน NT คือ ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และกลุ่มเป้าหมายการประเมิน RT คือ ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จากสถานศึกษาในสังกัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 8 สังกัด ประกอบด้วย

1) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

2) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน

3) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

4) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

5) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

6) สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร

7) สำนักการศึกษาเมืองพัทยา และ

8)การจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Homeschool)

5.กำหนดการการประเมิน NT คือ สอบวันที่ 24 มีนาคม 2564 และประกาศผลวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 และการประเมิน RT คือ สอบระหว่างวันที่ 8 – 12 มีนาคม 2564 (ตามความพร้อมของสถานศึกษาในช่วงเวลาที่กำหนด) และประกาศผลวันที่ 20 เมษายน 2564

6.แนวทางการดำเนินงานประเมินคุณภาพผู้เรียน ปีการศึกษา 2563 สทศ.สพฐ. ยังคงมีการดำเนินการประเมิน NT และ RT ปีการศึกษา 2563

6.1 การประเมิน NT

(1) สพฐ. จัดพิมพ์เครื่องมือประเมิน NT ตามจำนวนข้อมูลผู้เรียนที่สถานศึกษานำเข้าในระบบในแพลตฟอร์มการบริหารจัดการสอบ (NT Access) ที่สำนักทดสอบทางการศึกษาพัฒนาขึ้น และจัดส่งไปยังศูนย์สอบทั่วประเทศ ตามวันและเวลาที่กำหนดไว้

(2) ดำเนินการประเมิน NT จากสถานศึกษาในสังกัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 8 สังกัด

(3) ศูนย์สอบดำเนินการจัดสนามสอบ โดยกำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งเป็นสนามสอบ (จัดให้มีผู้เรียนห้องสอบละ 20 คน) เพื่อหลีกเลี่ยงการเคลื่อนย้ายนักเรียนออกจากพื้นที่ ยกเว้นในกรณีที่มีนักเรียนจำนวนน้อยไม่ถึง 5 คน อนุโลมให้มีการเคลื่อนย้ายไปรวมกับสถานศึกษาที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและประหยัดงบประมาณ โดยให้จัดห้องสอบเพิ่มตามจำนวนสถานศึกษาที่นักเรียนมาร่วมสอบในสนามสอบนั้น ๆ และให้ดำเนินการตามมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า2019 อย่างเคร่งครัด

(4) ศูนย์สอบแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการระดับศูนย์สอบและสนามสอบ โดยกรรมการคุมสอบในแต่ละห้องต้องมาจากต่างโรงเรียน และกำหนดให้มีกรรมการคุมสอบห้องละ 2 คน

(5) ข้อสอบที่ใช้ในการประเมินคุณภาพประกอบด้วยข้อสอบปรนัยและอัตนัย โดยการตรวจข้อสอบอัตนัย สามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ การตรวจข้อสอบที่สนามสอบ และการตรวจข้อสอบในสถานที่ที่ศูนย์สอบกำหนด แล้วจัดส่งผลการทดสอบทั้งข้อสอบแบบปรนัยและอัตนัยไปยังสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

(6) ศูนย์สอบและสนามสอบศึกษาแนวทางการบริหารจัดการสอบตามคู่มือการประเมิน NT ที่ สพฐ.จัดส่งให้

6.2 การประเมิน RT

(1) สพฐ.จัดพิมพ์เครื่องมือประเมิน RT ตามจำนวนข้อมูลผู้เรียนที่สถานศึกษานำเข้าในระบบในแพลตฟอร์มการบริหารจัดการสอบ (NT Access) ที่สำนักทดสอบทางการศึกษาพัฒนาขึ้น และจัดส่งไปยังศูนย์สอบทั่วประเทศ ตามวันและเวลาที่กำหนดไว้

(2) ดำเนินการประเมิน RT จากสถานศึกษาในสังกัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ จำนวน 8 สังกัด

(3) กำหนดให้สถานศึกษาทุกแห่งเป็นสนามสอบ โดยจัดให้มีผู้เรียนห้องสอบละ 20 คน และให้ดำเนินการสอบตามมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคไวรัสโคโรน่า2019 อย่างเคร่งครัด

(4) ศูนย์สอบแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการระดับศูนย์สอบ และให้ครูผู้สอนในสถานศึกษาที่เป็นสนามสอบเป็นกรรมการคุมสอบแต่ละห้อง โดยกำหนดให้มีกรรมการคุมสอบห้องละ 2 คน หากมีการเปลี่ยนแปลงในกรณีใดๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการอำนวยการระดับศูนย์สอบ

(5) ศูนย์สอบและสนามสอบศึกษาแนวทางการบริหารจัดการสอบตามคู่มือการประเมิน RT ที่ สพฐ. จัดส่งให้ https://bet.obec.go.th/New2020/?p=2400

ขอบคุณที่มา : Facebook วิษณุ ผอ.สทศ.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่