บอร์ด กพฐ.เห็นชอบให้ผอ.โรงเรียนตัดสินใจ สอบ-ไม่สอบปลายภาคเทอม1
บอร์ด กพฐ.เห็นชอบให้ผอ.โรงเรียนตัดสินใจ สอบ-ไม่สอบปลายภาคเทอม1

บอร์ด กพฐ.เห็นชอบให้ผอ.โรงเรียนตัดสินใจ สอบ-ไม่สอบปลายภาคเทอม1

13 สิงหาคม 2564 นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุม กพฐ.ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เสนอการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19

โดยที่ประชุมให้ความเห็นว่าการเรียนการสอนในสถานการณ์นี้ ควรให้อิสระกับโรงเรียนในการนับเวลาเรียน จัดการเรียนการสอน และการวัดและประเมินผลนักเรียน โดยเฉพาะการสอบปลายภาคของภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ให้ผู้อำนวยการโรงเรียนตัดสินใจว่าควรจะสอบหรือไม่ โดยให้พิจารณาดูความพร้อมของนักเรียนเป็นหลัก หากไม่สอบปลายภาคของภาคเรียนที่ 1/2564 สถานศึกษาอาจจะปรับวิธีการวัดและประเมินผลอย่างไร เช่น อาจไปสอบภาคเรียนที่ 2/2564 ครั้งเดียว เป็นต้น

“ผมมองว่าขณะนี้เราต้องปรับให้โรงเรียนมีความยืดหยุ่นมากที่สุดในการวัดและประเมินผลนักเรียน ภายใต้ตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ โดยตัวชี้วัดนั้นต้องไปปรับให้ทันกับสถานการณ์ด้วย เช่น จากเดิมต้องจัดสอบเพื่อวัดและประเมินว่านักเรียนมีความรู้ตามมาตรฐานของตัวชี้วัดหรือไม่ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน หากโรงเรียนสามารถกำหนดให้มีกิจกรรม หรือวิธีอื่นที่สามารถทดสอบ หรือประเมินว่านักเรียนผ่านเกณฑ์ หรือตัวชี้วัดที่สำคัญว่านักเรียนต้องรู้ และควรรู้อะไร ผมมองว่าไม่มีปัญหา เป็นอิสระของโรงเรียนอยู่แล้ว แต่ผมมองว่าตอนนี้ สพฐ. ควรยกเลิกประเมินความสามารถด้านภาษาไทยและความสามารถด้านคณิตศาสตร์ หรือ NT และการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเสียงและอ่านรู้เรื่อง หรือ NT ปีการศึกษา 2564 ออกไปก่อน เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้โรงเรียนวัดและประเมินผลนักเรียน” นายเอกชัย กล่าว

นายเอกชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ สังคมกำลังจับตามองปัญหาการเรียน เพราะผู้ปกครอง นักเรียนเครียดจากการเรียน ตนมองว่าปีที่ผ่านมา สพฐ.ได้ทำการรวบรวมปัญหาการเรียนออนไลน์ไว้อยู่แล้ว จึงน่าจะนำข้อมูลที่มีอยู่มาดูรายละเอียดว่านักเรียนแต่ละกลุ่ม แต่ละพื้นที่ เช่น นักเรียนในเมือง นักเรียนในชนบท มีปัญหาแตกต่างกันอย่างไร และนำมาปรับใช้ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอน ปรับการวัดและประเมินผล โดยอาจจะไม่เน้นเนื้อหาความรู้ แต่เน้นทักษะที่นักเรียนจำเป็นต้องใช้ นอกจากนี้ ตนได้เสนอให้ สพฐ.ลดภาระงานครูด้วย เนื่องจากการเรียนออนไลน์เพิ่มภาระให้ครูอย่างมาก เพราะครูต้องมานั่งเก็บข้อมูลการเข้า-ขาดเรียน ของนักเรียน แทนที่ครูจะมีเวลาในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะกับการออนไลน์ แต่ต้องมานั่งกังวลเรื่องการกรอกเอกสารข้อมูลของนักเรียน ดังนั้น สพฐ.ควรจะลดภาระให้ครูในส่วนนี้ลง

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า วันที่ 13 สิงหาคม 2564

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่