7 สิ่งที่ ศธ.และผู้บริหารระดับ รร.และเขตพื้นที่ต้องทำ ข้อเสนอจาก ผอ.ศูนย์ ESD ครุศาสตร์ จุฬาฯ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึง 7 สิ่งที่ ศธ.และผู้บริหารระดับ รร.และเขตพื้นที่ต้องทำ รายละเอียดดังนี้
1. เร่งรัดการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้มีจำนวนมากพอสำหรับเด็กและเยาวชนในพื้นที่เสี่ยง ระดมให้มีการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง ครอบคลุม และเร็วที่สุด
2. ปลดล็อค ย้ำเตือนให้ รร.ทบทวนและออกแบบการใช้หลักสูตรระดับ รร.กันใหม่ รวมทั้งการประเมินผล มอบหมายงานที่มีความหมาย ไม่มากชิ้น ตัดทอนเนื้อหาที่เป็นรายละเอียดปลีกย่อย ปรับกิจกรรมการเรียนการสอน ไม่จำเป็นต้องดึงทุกคนมาอยู่กันยาว ๆ ผ่านออนไลน์ตลอดทั้งวัน เรื่องนี้ต้องปลดล็อคระดับหลักสูตร
3. จัดตารางเรียนกันใหม่ เหลือวันละ 3-4 วิชา
ระดับประถมฯ ลดเวลาหน้าจอ เหลือเฉพาะวิชาหลัก เช่น คณิต ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ที่ต้องมีครูประกบ นอกนั้นให้บูรณาการเป็นโครงงานเล็ก ๆ ทำด้วยตนเองพอได้ โยงกับชีวิตที่บ้านจรืง ๆ
ระดับมัธยมปรับการเรียนผสมผสาน (Blended Learning) เรียนด้วยตัวเองผสมกับการมีปฏิสัมพันธ์สดและมีแพลตฟอร์มไว้แลกเปลี่ยนเหลื่อมเวลาได้ ถ้าเป็นวิชาที่มีเนื้อหาหลักอยู่ ในส่วนของการบรรยายปรับเป็นคลิปสั้น ๆ ตอนละ 15-20 นาที และเป็นออนดีมานด์ ไม่ควรต้องให้มาฟังบรรยายสดทางออนไลน์
4. เทอมนี้เหลืออีก 2-3 สัปดาห์ ปรับใหญ่ไม่ทัน ปรับเล็ก ลดและงดการสอบที่ไม่จำเป็น ปรับสัดส่วนคะแนนไปที่งานที่มอบหมายไว้แล้ว ไม่สั่งงานใด ๆ เพิ่มอีกในช่วง 2-3 สัปดาห์ เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เช่น ต้องอ่าน ฟัง มาก่อนเพื่อมาแลกเปลี่ยนในเวลาเรียน
5. เทอมปลาย ออกแบบหลักสูตร และกระบวนการใช้หลักสูตรใหม่หมด แนวทางให้ย้อนไปดู ข้อ2-3 และขอเสนอให้เลื่อนเปิดเทอมภาคปลายออกไป 1 เดือนในทุกระดับชั้น ยกเว้นชั้น ม.6 ในกรณีที่ ทปอ.ยังไม่เลื่อนระบบ TCAS และตารางสอบ
ทำไมต้องเลื่อนเปิดเทอม
– เด็ก ๆ ล้ามาตลอดสามสี่เดือน พวกเขาต้องได้พัก
– ครูล้ามาตลอดตั้งแต่เจอการล็อคดาวน์เพราะการระบาดระลอกสอง ยังแทบไม่ได้หยุดกันจริงจัง ก่อนเปิดเทอมต้องยกเลิกการอบรม ประชุมออนไลน์ทุกอย่าง ให้พวกเขาได้ประชุมกันทั้งในกลุ่มสาระวิชา ระดับชั้น และประชุมทั้ง รร. ทบทวนทิศทาง วิธีการ หลาย รร.ทำได้ดีมากขึ้นหลังมีการประชุมครูช่วงสอบกลางภาค มีสัปดาห์เคลียร์งานของ นร.และครู มีความพยายามถอดบทเรียนในส่วนนี้อยู่บ้าง แต่ยังไม่มีการสื่อสารในวงกว้าง ย้ำว่า ครูทุกคนต้องการเวลาพัก หารือ เตรียมการสอนให้ดีที่สุดเพื่อนักเรียน
– ผู้ปกครองก็ล้ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ปกครองเด็กเล็ก และเด็กประถมศึกษา
แม้จะเป็นช่วงวิกฤติที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และคาดเดาสถานการณ์ได้ยาก แต่การจัดการศึกษาไม่ควรสร้างความทุกข์รวมหมู่ให้กับผู้คนหลายสิบล้านคนเช่นที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
6. ระบบสนับสนุน เงินช่วยรายหัว ซิม แพ็คเกจอินเตอร์เน็ต อุปกรณ์มือถือ โน้ตบุค ฯลฯ ล้วนเป็นปัญหาที่ต้องปล่อยให้ รร.ตัดสินใจเองให้มากที่สุด เขตพื้นที่ถ้าจะรวบรวมข้อมูลต้องตามมาด้วยงบประมาณ ทรัพยากรสนับสนุน ไม่ใช่แค่ส่งต่อข้อมูลอย่างเดียว
การกำกับติดตามที่เข้มงวด วัฒนธรรมที่ผู้คนถูกทำให้กลัวมานานต่อระเบียบขั้นตอน การสั่งการที่ไม่ได้หารือภาพรวม ทั้งหมดคืออุปสรรคที่ทำให้การตัดสินใจล่าช้า ไม่ยืดหยุ่น ไม่ตอบโจทย์ เหนืออื่นใดคือไม่ได้ยึดนักเรียนเป็นที่ตั้งเลย
7. ส่วนกลางต้องเชิญครูและคนทำงานมาร่วมทบทวนแนวปฏิบัติก่อนสั่งการ หรือมีประกาศใด ๆ เพื่อให้รอบคอบ รัดกุมที่สุด มิฉะนั้นจะเป็นการสั่งไป ทำไป แก้ไป วนไปไม่รู้จบ
ทั้งหมดนี้ได้พยายามพูดมาตลอดปีครึ่ง บางเรื่องเริ่มเห็นการขยับที่น่าสนใจ บางเรื่องนิ่งมาก ส่วนที่ขยับปรับตัวไว คือ ระดับชั้นเรียน และระดับโรงเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รร.ขนาดกลางและเล็กที่สเกลไม่ใหญ่คล่องตัวกว่า ยิ่งหากมีครู ผู้บริหารที่มี leadership และ shared leadership ภาวะ resilience ล้มแล้วลุกได้เร็ว ยืดหยุ่นปรับตัวรับมือสถานการณ์ที่ยากท้าทาย เกิดขึ้นได้ดีกว่า
ที่ใดยังมีความกลัว ความยืดหยุ่น การคิดนอกกรอบ และความกล้าหาญในการตัดสินใจ เกิดได้ยากมาก
ขอบคุณเด็กและเยาวชนทุกคนที่ลุกขึ้นส่งเสียง เป็นเสียงที่ผู้ใหญ่ทุกคนต้องฟัง และโปรดอย่าด่วนตัดสินด้วยอคติ
ขอบคุณที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯ