ครม. อนุมัติ งบกว่า 112 ล้านบาท ผุด 3 โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ สู้ภัยโควิด-19
มติครม. อนุมัติ 3 โครงการ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้แก่
1) โครงการโอทอปไทย สู้ภัยโควิด-19 จัดมหกรรมจำหน่ายสินค้า OTOP อาหารชวนชิม บริการท่องเที่ยวชุมชน การสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น และนิทรรศการ โดยมีเป้าหมาย คือ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP ระดับ 3 – 5 ดาว ทั้ง 76 จังหวัด 2) โครงการพลิกวิกฤต COVID-19 สู่การสร้างเศรษฐกิจจาก OTOP สมุนไพรในชุมชนอย่างยั่งยืน จ้างงาน สร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมเกษตรสมุนไพรวนเกษตร 10 แห่ง (จ.เชียงราย ฉะเชิงเทรา ชลบุรี อุทัยธานี อุตรดิตถ์ นครราชสีมา ปราจีนบุรี นครพนม ชุมพร และพัทลุง) ผู้ประกอบการ OTOP จำนวน 250 ราย วิสาหกิจชุมชนและประชาชนราว 2,500 คน และ 3) โครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยการนวดไทยในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เปิดหลักสูตรอบรมนวดไทยเพื่อสุขภาพ 150 ชั่วโมง จำนวน 20 รุ่น รุ่นละ 40 คน และหลักสูตรนวดเท้าเพื่อสุขภาพ 60 ชั่วโมง จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 40 คน รายละเอียดดังนี้
1. อนุมัติโครงการโอทอปไทย สู้ภัยโควิด-19 ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย โดยปรับลดกรอบวงเงินของโครงการฯ จาก 190.0000 ล้านบาท เป็น 95.0000 ล้านบาท (ปรับลด 95.0000 ล้านบาท)
2. อนุมัติโครงการพลิกวิกฤต COVID-19 สู่การสร้างเศรษฐกิจจาก OTOP สมุนไพรในชุมชนอย่างยั่งยืน ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โดยปรับลดกรอบวงเงินของโครงการฯ จาก 18.7644 ล้านบาท เป็น 8.3211 ล้านบาท (ปรับลด10.4433 ล้านบาท)
3. อนุมัติโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยการนวดไทยในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข โดยปรับลดกรอบวงเงินของโครงการฯ จาก 16.1317 ล้านบาท เป็น 9.1981 ล้านบาท (ปรับลด 6.9336 ล้านบาท)
มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการโอทอปไทย สู้ภัยโควิด-19 และเห็นควรมอบหมายให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการพลิกวิกฤต COVID-19 สู่การสร้างเศรษฐกิจจาก OTOP สมุนไพรในชุมชนอย่างยั่งยืน และโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยการนวดไทยในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการ ดำเนินการ ดังนี้
1 จัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายเดือน เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ
2 รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหาอุปสรรค โดยจัดส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
3 ประสานกับกระทรวงการคลังในการรายงานขีดความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดฯ ด้วย
เรียบเรียง : แอดมิน ครูอาชีพดอทคอม
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์รัฐบาลไทย-ข่าวทำเนียบรัฐบาล-สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 23 พฤศจิกายน 2563 (thaigov.go.th)