ต้องรู้ไว้!! ‘เที่ยวปันสุข’ 8 ข้อต้องรู้ เตรียมพร้อมก่อนเปิดชิงสิทธิ์ 1 ก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยจัดทำโครงการมอบส่วนลดเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย ประกอบด้วย 3 แพ็คเกจ ได้แก่ กำลังใจ เที่ยวปันสุขและเราไปเที่ยวกัน ตามที่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงการคลัง ได้เสนอเข้าที่ประชุม ครม.โดยจะจัดโครงการเป็นระยะเวลา 4 เดือนตั้งแต่ กรกฎาคม-ตุลาคม 2563
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า แนวทางการลงทะเบียนใช้สิทธิ์ตามมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศเที่ยวปันสุข, กำลังใจ, เราไปเที่ยวกันนั้น ขอยืนยันว่า การลงทะเบียนมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว จะต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน ซึ่งจะทำให้ทั้งประชาชน และผู้ประกอบการ ทั้งโรงแรม และร้านอาหารใช้งานได้ง่ายที่สุด เพื่อให้มาตรการดังกล่าว มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในเชิงการดำเนินการให้มากที่สุด ภายใต้หลักการที่ ครม.อนุมัติไปแล้ว
ขณะเดียวกันจะต้องปรับปรุงระบบแพลตฟอร์มให้เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประชาชนและผู้ประกอบการเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้สามารถการันตีการรับสิทธิ์ในครั้งเดียว โดยไม่ต้องให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการทำเรื่องคอนเฟิร์มไปมาหลายรอบ
“ย้ำว่าการลงทะเบียนต่างๆ ต้องไม่ซับซ้อน ระบบจะเชื่อมโยงกันให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนและรอรับสิทธิ์ไปใช้ได้เลย ขณะที่ร้านค้า หรือโรงแรมต้องใช้ง่าย ข้อมูลจะลิ้งค์กันหมด โดยไม่ต้องคอนเฟิร์มกันไปมาให้ยุ่งยาก ซึ่งทั้งหมดต้องให้ทุกฝ่ายสะดวกที่สุด แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบที่ ครม.อนุมัติไปก่อนหน้านี้แล้วทั้งหมด” นายลวรณ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ก่อนเปิดให้ชิงสิทธิ์ เที่ยวปันสุข! มาทำความรู้จักมาตรการนี้แบบชัดๆ ก่อนดังนี้
1. “เที่ยวปันสุข” แจกเงินหรือไม่
ยืนยันว่า โครงการ เที่ยวปันสุข! ไม่ใช่การแจกเงินเที่ยว แต่คุณจะได้รับเป็นโค้ดส่วนลด และส่วนลดโปรโมชั่นตามแคมเปญ แต่แคมเปญ “เราไปเที่ยวกัน” จะได้รับเป็น E Voucher 600 บาท ต่อการเช็กอิน 1 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 คืนต่อคน อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือจะได้ E Voucher 3,000 บาท เพื่อใช้กับร้านอาหารและที่พักเท่านั้น
2. ใครได้รับสิทธิ์อะไรบ้าง
เช็คสิทธิ์ “เที่ยวปันสุข” ได้หลังจากประกาศจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดออกมามากไปกว่า อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ข้อมูลที่ต้องใช้ลงทะเบียน ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ อีเมล และรหัส OTP
3. “เที่ยวปันสุข” ได้รับส่วนลดอะไรบ้าง?
- กำลังใจ อสม. และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ได้รับสิทธิ์แพ็กเกจเที่ยว 2 วัน 1 คืน ไม่เกินทริปละ 2,000 บาท
- เที่ยวปันสุข รับ Promotion Code ส่วนลดตั๋วเครื่องบิน 40% หรือไม่เกิน 1,000 บาท
- เราไปเที่ยวกัน ไม่ได้เงิน แต่ได้โควตา E Voucher 600 บาท ไม่เกิน 5 คืน เพื่อเอาไปใช้จ่ายซื้ออาหารหรือที่พักโรงแรม
4. ลงทะเบียน “เที่ยวปันสุข” ได้ที่ไหน
ลงทะเบียนผ่านช่องทางของธนาคารกรุงไทย เพื่อรับ Promotion Code และโหลดแอปฯ เป๋าตัง เตรียมไว้รับ E-Voucher ใช้ได้เฉพาะวันที่จะไปเช็คอินที่พัก
5. สายการบินที่เข้าร่วมโครงการมีอะไรบ้าง
สายการบินในประเทศเท่านั้น ที่ร่วมกับโครงการนี้ อาทิ สายการบินไทย, การบินไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์, แอร์เอเชีย, นกแอร์, ไทยเวียตเจ็ทแอร์ และ บางกอกแอร์เวย์ส เป็นต้น
6. ไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง
มาตรการนี้สามารถท่องเที่ยวได้ทุกที่ในประเทศไทย โดยต้องติดตามว่า ผู้ประกอบการ หรือ โรงแรมที่ผู้ได้รับสิทธิ์ต้องการเข้าพักได้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ แต่คาดว่า ผู้ประกอบการทุกจังหวัดทั้งเมืองหลัก และเมืองรองจะเข้าร่วมโครงการทั้งหมด
7. วิธีคิดค่าใช้จ่ายที่พักโรงแรมที่ร่วมโครงการ
แคมเปญที่ใช้ App เป๋าตังจ่ายที่พักโรงแรม ก็คือ “เราไปเที่ยวกัน” จองที่พักได้สูงสุด 5 คืน ราคาที่พักสูงสุด 7,500 บาทต่อคืน โดยภาครัฐจะช่วยออกเงิน 40% ซึ่งจะโอนเงินให้ผู้ประกอบการเอง
8. ไปกันหลายคนใช้ส่วนลดได้หรือไม่
เนื่องจากข้อมูลที่แท้จริงต้องรอประกาศจาก ททท. อีกครั้ง แต่กฎเกณฑ์ในโครงการที่ผ่านมา อาทิ 100 เดียวเที่ยวทั่วไทยนั้น ไม่สามารถใช้ E-Voucher หลายใบต่อ 1 ที่พักได้ แต่ชิมช้อปใช้ ใช้หลาย Account จ่ายรวมบิลเดียวกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าครั้งนี้ทาง ททท. จะออกนโยบายแบบไหน
สำหรับวิธีดาวน์โหลดแอปเป๋าตัง มีดังนี้
หากใช้สมาร์ทโฟนระบบ Android เข้าไปที่ Play Store แต่ถ้าใช้ระบบ iOS ให้เข้าไปที่ App Store แล้วค้นหาคำว่า “เป๋าตัง”
เมื่อเปิดแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จะขึ้นข้อความ “เป๋าตัง ใบใหม่” คลิกคำว่า “ถัดไป”
จากนั้นให้กรอก “เบอร์โทรศัพท์” แล้วคลิกคำว่า “ขอรหัส OTP”
จากนั้นจะได้รับรหัส OTP จาก SMS แล้วกรอกลงไป
เข้าสู่หน้า “ข้อตกลงและเงื่อนไข” ให้อ่านรายละเอียด เสร็จแล้วคลิกเครื่องหมายถูกหน้าข้อความ ยอมรับเงื่อนไขการใช้บริการ แล้วคลิกคำว่า “ตกลง”
จากนั้นให้ตั้งรหัส PIN จำนวน 6 หลัก เพื่อการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันเป๋าตัง
อย่างไรก็ตาม เงินที่รัฐบาลให้ ต้องใช้ร่วมกับค่าอาหารหรือค่าแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวต้องจ่ายเองก่อน 60% เช่น ไปทานอาหารในมื้อนั้น 1,000 บาท จะต้องจ่ายเอง 600 บาท ส่วนอีก 400 บาท สามารถเงินที่รัฐให้มาช่วยจ่ายได้ แต่ถ้าวันแรกที่ได้เงินมา 600 บาท ใช้ไปเพียง 400 บาท แล้วเหลืออีก 200 บาท สามารถนำไปใช้ร่วมในวันรุ่งขึ้น เท่ากับจะมีเหลืออยู่ 800 บาทได้ ย้ำว่าเบิกเป็นเงินสดไม่ได้
ส่วนวิธีจองให้ได้เงินเที่ยว (อี-วอลเล็ท) สูงสุด 3,000 บาท
สำหรับโครงการ “เราไปเที่ยวกัน” นอกจากจะได้ส่วนลดที่พักแล้ว รัฐยังจะสนับสนุนเงินให้อีก 600 บาทต่อคืน สำหรับใช้จ่ายในโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ ถ้าอยากได้เงินเที่ยวในจำนวนเต็มเพดาน ก็ต้องลงทุนเรื่องเวลาอีกเช่นกัน โดยต้องใช้เวลาท่องเที่ยว 6 วัน 5 คืน
โดยเงื่อนไขของโครงการ “เราไปเที่ยวกัน” ระบุว่า เมื่อลงทะเบียนใช้งานแพ็คเกจนี้ และเลือกซื้อ E-Voucher ของโรงแรมที่ร่วมโครงการ นอกจากได้ส่วนลดค่าห้องพักแล้ว ยังจะได้รับเงินที่รัฐสนับสนุน (อี-วอลเล็ท) นำไปใช้จ่ายในพื้นที่นั้นๆ อีก 600 บาทต่อคืน แต่สูงสุดไม่เกิน 5 คืน หรือไม่เกิน 3,000 บาท
เช่น เมื่อซื้อ E-Voucher สำหรับที่พัก 1 คืน นอกจากได้ส่วนลดห้องพักแล้ว ผู้ซื้อยังจะได้รับเงินเที่ยวในลักษณะ อี-วอลเล็ท โดยรัฐจะโอนให้ผ่านแอพฯ “เป๋าตัง” จำนวน 600 บาทต่อคืน โดยสามารถนำไปใช้จ่ายในร้านค้าที่ร่วมโครงการ และใช้วิธีสแกนบาร์โค้ดในการชำระค่าใช้จ่าย
หรือเมื่อซื้อ E-Voucher สำหรับที่พัก 5 คืน นอกจากได้ส่วนลดห้องพักแล้ว ผู้ซื้อยังจะได้รับเงิน อี-วอลเล็ท ผ่านแอพฯ “เป๋าตัง” จำนวนสูงสุดถึง 3,000 บาท โดยใช้วิธีสแกนบาร์โค้ดในการชำระค่าใช้จ่ายเช่นกัน
ทั้งนี้ อี-วอลเล็ท 600 บาทต่อคืน สามารถใช้ตั้งแต่วันที่เช็คอิน จนถึงวันที่เช็คเอาท์ (เวลา 23.59 น.) เท่านั้น และหากพบว่าไม่มีการใช้จ่ายเงินจำนวนนี้ รัฐจะดึงเงิน อี-วอลเล็ท ดังกล่าวกลับคืนระบบทันที
ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ The Bangkok Insight วันที่ 23 มิถุนายน 2563