แฉ! เด็กไทย อ้วนเร็วที่สุดในโลก แนะแอป “FoodChoice” ดูข้อมูลโภชนาการ
เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าวผลการพัฒนาเครื่องมือให้ความรู้ด้านโภชนาการ ว่า ประชาชนจำเป็นจะต้องมีความรู้ที่เพียงพอเกี่ยวกับรายละเอียดปริมาณสารอาหารที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกกินอาหารหรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีในการดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้ แต่ปัจจุบันพบว่ามีผู้บริโภคจํานวนมากที่ประสบปัญหาการ ดูฉลากโภชนาการบนผลิตภัณฑ์ เนื่องจากตัวอักษรเล็กและมีรายละเอียดมาก เมื่อต้องการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ใด ๆ จำเป็นต้องใช้เวลาในการตัดสินใจนาน ดังนั้น สธ. จึงร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คิดค้นเครื่องมือเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าว ซึ่งเหมาะสำหรับพ่อแม่ที่จะเลือกผลิตภัณฑ์อาหารให้กับเด็ก ให้เด็กได้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคอ้วนตามมา เนื่องจากปัจจุบันเด็กไทยติดอันดับการเพิ่มจํานวนเด็กอ้วนเร็วที่สุดในโลกโดยในปี 2561 พบเด็กอายุ 6-14 ปี เริ่มอ้วนและอ้วน ร้อยละ 11.1 และเพิ่มเป็นร้อยละ 11.7 ในปี 2562 นอกจากนี้ จากการสำรวจพฤติกรรมสุขภาพ ช่องปากเด็กวัยเรียน สำนักทันตสาธารณสุข ปี 2563 พบเด็กอายุ 12 ปี ดื่มน้ำหวานและน้ำอัดลมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 52 และกินขนมมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ร้อยละ 28.9
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แอปพลิเคชั่น FoodChoice ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการให้ความรู้ทางด้านโภชนาการ เมื่อสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจัดเรียงข้อมูลผลิตภัณฑ์ตามเกณฑ์ เช่น พลังงาน น้ำตาล โซเดียม ไขมัน ไขมันอิ่มตัว และโปรตีน นอกจากนี้ ยังได้มีการจำแนกสีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายได้
แอปพลิเคชั่น FoodChoice เมื่อสแกนบาร์โค้ดจากผลิตภัณฑ์ ข้อมูลบนฉลากโภชนาการจะถูกแสดงในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ช่วยผู้บริโภคในการตัดสินใจ เปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันได้อย่างรวดเร็ว โดยมีการจำแนกสีของผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกบริโภค และกำหนดปริมาณการกินให้เหมาะสม ดังนี้
1) สีเขียว หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่กําหนด
2) สีเหลือง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง
3) สีแดง หมายถึง ปริมาณพลังงานหรือสารอาหาร อยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกิน 2 เท่าของเกณฑ์ที่กำหนด
4) สีฟ้า หมายถึง ปริมาณโปรตีน แคลเซียม วิตามินบีสอง ซึ่งเป็นสารอาหารที่ดีแต่มีปริมาณต่ำกว่าเกณฑ์มาก ซึ่งหากผู้ใช้งานสแกนบาร์โค้ดบนผลิตภัณฑ์แล้วไม่พบข้อมูล ผู้ใช้สามารถถ่ายภาพและแชร์รูปภาพของผลิตภัณฑ์ ด้านหน้าผลิตภัณฑ์ ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ และเลขอย. 13 หลักเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลในแอปพลิเคชั่นให้ทันสมัย และครบถ้วนอยู่ตลอดเวลา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ขอบคุณที่มาของข่าว : Facebook At HeaR | สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ