5 บอร์ดเกม ช่วยสอนเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้น่าเบื่อ
5 บอร์ดเกม ช่วยสอนเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้น่าเบื่อ

5 บอร์ดเกม ช่วยสอนเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้น่าเบื่อ

วันนี้ ครูอาชีพดอทคอม ขอแนะนำ 5 บอร์ดเกม ที่จะเพิ่มทักษะต่างๆ ในการเสริมความรู้ ความเข้าในเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ทักษะต่างๆ ที่ไม่สามารถหาได้จากตำรา เช่น ทักษะการตัดสินใจ การเจรจา การเห็นภาพรวมเป็นต้น

5 บอร์ดเกม ช่วยสอนเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้น่าเบื่อ 7

1. Stockpile

5 บอร์ดเกม ช่วยสอนเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้น่าเบื่อ 8

เกมนี้จะมาในธีมซื้อขายหุ้น โดยผู้เล่นแต่ละคนจะได้เงินเริ่มต้น และหุ้นตั้งตัว จากนั้นในแต่ละรอบผู้เล่นแต่ละคน จะได้ข้อมูลลับ (Insider Information) ที่บอกว่าหุ้นตัวไหนจะขึ้นหรือลง คนละตัว และจะมีข้อมูลสาธารณะ (Public Information) ที่ทุกคนทราบกันหมดว่า จบรอบนั้น หุ้นตัวไหนจะขึ้นหรือลง โดยหุ้นจะมีทั้งหมด 6 ตัว

จากนั้นผู้เล่นแต่ละคนจะได้รับการ์ดหุ้นคนละสองใบต่อรอบ โดยจะต้องวางหงายหนึ่งใบ และคว่ำหนึ่งใบ ในกองไหนก็ได้

เมื่อวางครบแล้ว จะให้ผู้เล่นคนแรกเป็นฝ่ายประมูลก่อนว่าต้องการอยากได้การ์ดกองไหน
และผู้เล่นคนอื่นๆ ก็จะประมูลแข่งกัน เมื่อจบการประมูลผู้เล่นสามารถเลือกได้ว่าจะขายหุ้นหรือจะถือไว้ก่อนก็ได้

เกมนี้จะเล่นกันประมาณ 5-7 รอบ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้เล่น เมื่อจบเกมจะมาวัดกันว่าใครถือหุ้นชนิดไหนเยอะสุด ก็จะได้โบนัสสำหรับหุ้นชนิดนั้นไป และจะขายหุ้นทุกตัวที่ราคาตลาดแล้วนับเงินกัน คนที่ได้คะแนนเยอะสุดจะเป็นคนชนะ

เกมนี้เป็นเกมที่ผมชอบเล่นมากที่สุด โดยเกมพยายามจะฝึกให้เราตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่ข้อมูลไม่ครบ (Asymmetric Information) ที่แต่ละคนต่างมีข้อมูลไม่เท่านั้น และในการที่เราจะเอาชนะเกมนี้ได้ เราต้องพยายามจะประเมินมูลค่าของหุ้นแต่ละกองให้ได้

โดยใบหุ้นที่วางคว่ำไว้อยู่นั้นเราต้องพยายามเดาให้ได้ว่าคืออะไร มีมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งการเดานั้นหากจะเดามั่วๆ ก็ย่อมได้ แต่ในเกมเราสามารถคาดการถึงความน่าจะเป็นได้ จากการกระทำของผู้เล่นอื่นที่มีข้อมูลนั้น เช่น หากกองนั้นผู้เล่นที่เป็นคนวางคว่ำการ์ดประมูลในราคาสูง ก็เป็นไปได้ว่าการ์ดที่วางไว้เป็นการ์ดที่ดี หรือหากผู้เล่นที่วางการ์ดกองนั้นไม่ประมูลกองที่ตัวเองวางไว้ อาจตีความได้ว่าเป็นการ์ดที่แย่ก็เป็นไปได้ นอกจากนี้ในช่วงระหว่างขายหุ้น ผู้เล่นที่มีข้อมูลว่าหุ้นตัวใดจะตกหนักอาจมีการขายหุ้นตัวนั้นออกมา หากเราเล่นหลังผู้เล่นคนนั้นก็สามารถเก็บข้อมูลนั้นมาประกอบการตัดสินใจได้

ระบบการประมูลหุ้นในเกม เป็นสิ่งที่ผมชอบมากในเกม เนื่องจากเป็นรูปแบบหนึ่งของทฤษฎีเกม เพราะการตัดสินใจวางประมูลเราสามารถเลือกได้ว่าจะประมูลราคาต่ำ ในกองที่มีมูลค่าสูง แล้วค่อยๆ ไล่ราคากับผู้เล่นรายอื่น แต่ก็ต้องเสี่ยงว่าจะไม่ได้กองนั้น หรือเลือกไปประมูลกองที่ไม่ต้องแข่งกับใคร หรือจะประมูลที่ราคาดุลยภาพ (Nash Equilibrium) เลยก็ได้

หากผู้เล่นแต่ละคนมีประสบการณ์ในการเล่นพอสมควร จะทำให้การประมูลแต่ละกองราคาจะค่อนข้างสูง เพราะแต่ละคนจะประเมินมูลค่าได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง โอกาสที่จะได้กำไรเกินปกติจะน้อย หรือในบางรอบผู้เล่นที่เลือกกองที่ทำให้ตัวเองเสียหายน้อยสุด กลับเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะกองที่ดีๆ ทุกคนต่างแย่งกันประมูลจนขาดทุนกันหมด

ซึ่งกลยุทธ์นึงที่เหมาะสำหรับการใช้ในตอนประมูลคือ Minimax Regret ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่ Jeff Bezos ซีอีโอหนุ่มของ Amazon Inc แนะนำให้ใช้กับการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ

โดยรวมแล้วเกมนี้ถือว่าเป็นเกมการเงินอันดับหนึ่งในดวงใจของผม ด้วยความที่เกมเล่นไม่ยาก อธิบายสั้นๆ ก็สามารถเล่นเป็น แต่สามารถฝึกทักษะกระบวนการตัดสินใจ วิธีประเมินมูลค่าภายใต้ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เราสามารถเล่นซ้ำได้หลายรอบ ยิ่งเล่นยิ่งพัฒนาทักษะเรามากขึ้น

2. I’m the Boss! 

5 บอร์ดเกม ช่วยสอนเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้น่าเบื่อ 9

I’m the Boss! หรือชื่อไทย อย่าซ่ากับบอส!
เกมนี้ทำให้ผมนึกถึงสมัยยุคสามก๊ก ที่ไม่มีใครสามารถกุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ ทุกคนต่างแย่งกันขึ้นเป็นผู้นำ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปล่อยให้แคว้นใดล่มสลายไปได้ เพราะต้องการถ่วงดุลอำนาจ จึงเป็นเกิดเป็นสภาวะกระถางธูปสามขาหรือสามก๊กแบบที่ข้งเบ้งพยากรณ์ไว้

เกม I’m the Boss! เป็นเกมเน้นการเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัว โดยเกมจะให้ผู้เล่นแต่ละคนได้เป็นบอส โดยบอสจะมีอำนาจในการเลือกผู้เล่นที่จะมาทำโครงการด้วย และมีอำนาจในการแบ่งเงินให้คนที่ตนเลือกมา

แต่บอสใช่ว่าจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดสรร เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้การ์ดตัวละครจากผู้เล่นหลายคนมาประกอบกัน จึงจะสามารถทำโครงการได้ และในขณะเดียวกันผู้เล่นที่ไม่ถูกเลือกในตานั้น ก็อาจจะใช้การ์ดที่ทำให้โครงการไม่สำเร็จได้หากไม่ได้เลือกเขาไป

ดังนั้นบอสจำเป็นต้องตัดสินใจรวดเร็ว เฉียบขาด และจำเป็นต้องประสานผลประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ลงตัว รวมถึงผู้เล่นที่ไม่ถูกเลือกด้วย เกมนี้จะต่างจะเกมอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะมีรูปแบบผู้ชนะกินรวบ หรือ Winner takes it all แต่เป็นการคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้เล่นทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่ตัวเล็กกว่า เหมือนที่เกิดขึ้นในยุคสามก๊ก

หากคุณต้องการฝึกการใช้อำนาจ การเจรจา และเหลี่ยมคมในเชิงธุรกิจ ที่พร้อมจะเชือดเชือนกันตลอดเวลา ห้ามพลาดเกมนี้เด็ดขาด I’m the Boss!

3. Tulip Bubble

5 บอร์ดเกม ช่วยสอนเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้น่าเบื่อ 10

ทำไมเพชร ถึงราคาแพงกว่าข้าวทั้งๆ ที่กินไม่ได้ ทำไมพระสมเด็จแท้องค์นึงราคาถึงเป็นสิบๆ ล้าน ทำไมจตุคามรามเทพช่วงนึงราคาองค์ละหลายแสน แต่ขณะนี้ให้ฟรียังไม่ค่อยมีคนจะเอา และทำไม Bitcoin เหรียญนึงราคาเป็นแสน ทั้งๆ ที่เป็นแค่ตัวเลข ในอากาศ

เหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ คือ เพราะคนซื้อมากกว่าคนขาย (demand > supply) และสินค้าเหล่านี้มีความหาได้ยาก จะเกิดอะไรขึ้นหากวันใดวันนึงของพวกนี้คนไม่อยากได้….

Tulip Bubble คือเกมที่จะทำให้คุณเห็นภาพและกลไกของเศรษฐศาสตร์ของสินค้าเหล่านี้ ผ่านเหตุการฟองสบู่ทิวลิปที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่ผู้คนต่างอยากได้และเก็งกำไรดอกทิวลิปกันอย่างบ้าคลั่ง จนราคาดอกทิวลิปบางดอกสามารถซื้อบ้านได้เป็นหลัง ซื้อที่ดินได้ 30 ไร่

ในเกมผู้เล่นแต่ละคนสามารถเลือกซื้อดอกทิวลิปที่มีขายในตลาดได้ โดยสามารถซื้อได้ทั้งในรูปแบบเงินสด หรือในรูปแบบสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
โดยในเกมจะมีดอกทิวลิป 3 สี 3 เกรดให้เลือกซื้อ และทุกการซื้อขายจะมีผลต่อกลไกตลาด ทำให้ดอกทิวลิปมีการขึ้นลง

ผู้เล่นสามารถเลือกขายดอกทิวลิปในตลาด หรือขายให้นักสะสมก็ได้ ถ้าขายในตลาดจะส่งผลให้ดอกทิวลิปราคาตกลง แต่ถ้าขายให้นักสะสมผู้เล่นจะได้ราคาเท่ากับราคาตลาดดอกทิวลิปนั้นบวกกับโบนัส นอกจากนี้การขายให้นักสะสมจะไม่ทำให้ราคาตลาดของดอกทิวลิปนั้นลดลง เพราะเป็นผู้ซื้อจริงไม่ใช่เก็งกำไร (Real Demand)

Tulip Bubble จะต่างจาก Stockpile ตรงที่เกมนี้จะเป็นตลาดที่ผู้เล่นน้อยราย มีสภาพคล่องต่ำ การกระทำของเราทุกอย่างจึงส่งผลต่อราคาตลาด ในขณะที่ Stockpile การกระทำของเราไม่ค่อยมีผลต่อราคาตลาด เพราะตลาดมีสภาพคล่องสูง

โดยรวมผมว่าเกมนี้เป็นเกมที่ดีเกมนึงเลยที่สอนให้เราเข้าใจกลไกตลาด ผ่านตัวเกมที่เล่นง่ายๆ ภาพสวย แต่คิดเยอะระดับนึงเลย

4. Acquire

5 บอร์ดเกม ช่วยสอนเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้น่าเบื่อ 11

ถ้าอยากรู้ว่าอาณาจักรเสี่ยธนินท์ CP และเสี่ยเจริญ ไทยเบฟ จะขยายใหญ่ไปถึงไหน ห้ามพลาดเกมนี้เด็ดขาด Acquire เกมแห่งการซื้อกิจการ และตั้งบริษัท Startup

ผู้เล่นแต่ละคนจะได้ไอเท็มที่จะวางเป็นโครงสร้างบริษัทต่างๆ โดยที่ต้องวางแผนว่าจะวางแผนวางไอเท็มอย่างไร ให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังด้วยว่าบริษัทของตนเองนั้น จะถูกบริษัทใหญ่เทคโอเวอร์หรือไม่

กลยุทธ์ที่ผู้เล่นจะต้องเจอคือ การบริหารบริษัทใหญ่เพื่อไล่กลืนกิจการขนาดเล็ก และขณะเดียวกันคือการบริหารบริษัทเล็ก ให้อยู่รอดจากการถูกกลืนจากบริษัทใหญ่

เกมนี้ถือว่าเป็นเกมคลาสสิคเกมนึงที่ผู้ประกอบการทุกท่านไม่ควรพลาดครับ

5. Codenames

5 บอร์ดเกม ช่วยสอนเศรษฐศาสตร์ ไม่ให้น่าเบื่อ 12

ปัญหาหลักอย่างหนึ่งในองค์กร คือการสื่อสารให้เข้าใจกัน โดยเฉพาะการสั่งงานควรต้องกระชับ และตรงประเด็น เพื่อที่คนทำงานจะได้เห็นภาพงาน
และสามารถทำงานได้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ผู้บริหารหลายคนประสบปัญหาคือ ไม่สามารถถ่ายทอดความคิดให้ ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าใจได้
ลูกน้องหลายคนก็มีพื้นฐานความรู้และประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน ผู้บริหารที่ดีควรจะต้องเข้าใจความคิด จิตใจของลูกน้อง และสามารถพูดภาษาเดียวกันกับเขาได้

เกมโค้ดเนมส์ จะสามารถเพิ่มทักษะให้ท่านได้ โดยในเกมจะแบ่งเป็นสองทีม แต่ละทีมจะแบ่งคนใบ้คำและทายคำ โดยจะวางการ์ดคำศัพท์ไว้ 5×5 การ์ด ฝั่งคนใบ้คำจะต้องพูด คำ 1 คำ พร้อมระบุตัวเลข เพื่อให้คนทายทายว่า หมายถึงการ์ดใบไหน หากทายผิดไปโดนการ์ดของฝ่ายตรงข้าม ฝ่ายตรงข้ามก็จะได้คะแนนไป

เกมนี้คนใบ้จะต้องใช้จินตนาการ เพื่อรวบรวมคำศัพท์ของการ์ดตัวเอง แล้วแปลงออกมาเป็นคำสั้นๆ โดยที่ไม่ทำให้คนทายศัพท์ ตีความไปเป็นการ์ดของฝ่ายตรงข้ามได้ ฝั่งคนใบ้นอกจากจะต้องคิดการเข้ารหัสคำศัพท์แล้ว ยังจำเป็นต้องทายใจคนทายศัพท์ด้วย ว่าเขาสามารถตีความเป็นอะไรได้บ้าง และขณะเดียวกันฝั่งคนทายก็ต้องทายใจคนใบ้ด้วย

หากเราพูดภาษาเดียวกันแล้ว ทุกอย่างก็ง่ายขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่