กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดอย่างไรให้ครบถ้วนตามหลักสูตร ??
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดอย่างไรให้ครบถ้วนตามหลักสูตร ??

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดอย่างไรให้ครบถ้วนตามหลักสูตร ??

กิจกรรม พัฒนาผู้เรียน ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นกิจกรรมมุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามศักยภาพ พัฒนาอย่างรอบด้านเพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย สติปัญญาอารมณ์ และสังคม เสริมสร้างให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย ปลูกฝังและสร้างจิตสานึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม สามารถจัดการตนเองได้ และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอย่างมีความสุข กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน แบ่งเป็น 3 ลักษณะดังนี้

1.กิจกรรมแนะแนว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้รู้จักตนเอง รู้รักษ์สิ่งแวดล้อม สามารถคิดตัดสินใจ คิดแก้ปัญหา กำหนดเป้าหมาย วางแผนชีวิตทั้งด้านการเรียนและอาชีพ สามารถปรับตนได้อย่างเหมาะสมนอกจากนี้ยังช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจผู้เรียนทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ผู้ปกครองในการมีส่วนร่วมพัฒนาผู้เรียน

2. กิจกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาความมีระเบียบวินัย ความเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี ความรับผิดชอบ การทำงานร่วมกัน การรู้จักแก้ปัญหา การตัดสินใจที่เหมาะสม ความมีเหตุผล การช่วยเหลือแบ่งปัน เอื้ออาทรและสมานฉันท์ โดยจัดให้สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนให้ได้ปฏิบัติด้วยตนเองในทุกขั้นตอนได้แก่ การศึกษาวิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติตามแผน ประเมิน และปรับปรุงการทำงาน เน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับวุฒิภาวะของผู้เรียนและบริบทของสถานศึกษาและท้องถิ่น กิจกรรมนักเรียน ประกอบด้วย 

2.1 กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี และยุวกาชาด

2.2 กิจกรรมชุมนุม/ชุมนุมวิชาการ

ทั้งนี้นักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในข้อ 2.1 และ 2.2

         มัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมในข้อ 1 หรือ 2 ก็ได้ กิจกรรมหนึ่ง

         กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี

         ลูกเสือสำรอง            ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3

         ลูกเสือสามัญ            ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6

         ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

         ลูกเสือวิสามัญ           ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

         กิจกรรมยุวกาชาด

         สมาชิกยุวกาชาด ระดับ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3

         สมาชิกยุวกาชาด ระดับ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6

         สมาชิกยุวกาชาด ระดับ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

         สมาชิกยุวกาชาด ระดับ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

         กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์

         รุ่นนกน้อย เด็กหญิง อายุ 4-6ปี อนุบาล 1-3

         รุ่นนกสีฟ้า เด็กหญิง อายุ 7-11ปี ประถมศึกษาปีที่ 1-6

         ผู้บำเพ็ญประโยชน์รุ่นกลาง เยาวสตรี อายุ 12-15 ปี

         ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3

         ผู้บำเพ็ญประโยชน์รุ่นกลาง เยาวสตรี อายุ 12-15 ปี

         ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6

         กิจกรรมนักศึกษาวิชาทหาร

         นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 1 และ 2

         นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 3

         นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 4

         นักศึกษาวิชาทหารชั้นปีที่ 5

3. กิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์

เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ชุมชนและท้องถิ่น ตามความสนใจในลักษณะอาสาสมัครเพื่อแสดงถึงความรับผิดชอบ ความดีงาม ความเสียสละ ต่อสังคม และการมีจิตสาธารณะ เช่น กิจกรรมอาสาพัฒนาต่างๆ กิจกรรมสร้างสรรค์สังคม

โดยทั้ง 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ เมื่อผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมแล้วนำไปสู่เป้าหมายเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะสำคัญ และคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ของผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 มีความ สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ดังภาพ

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดอย่างไรให้ครบถ้วนตามหลักสูตร ??
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดอย่างไรให้ครบถ้วนตามหลักสูตร ?? 3

เป้าหมาย

การจัดกิจกรรม พัฒนาผู้เรียน มุ่งส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้เรียนใช้ความรู้ ทักษะ และ ประสบการณ์จากการเรียนรู้ไปพัฒนาตนเองให้เกิดสมรรถนะสำคัญ 5 ประการได้แก่ 

1. ความสามารถในการสื่อสาร 

2. ความสามารถในการคิด 

3. ความสามารถในการแก้ปัญหา 

4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต 

5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี

อันจะนำไปสู่คุณลักษณะอันพึงประสงค์ 8 ประการ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช2551 ได้แก่ รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซื่อสัตย์สุจริต มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง มุ่งมั่นในการทำงาน รักความเป็นไทย และมีจิตสาธารณะ

แนวการจัดกิจกรรม

สถานศึกษาจัดให้ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมโดยมีแนวการจัดกิจกรรมดังนี้ให้ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมตามความสนใจ

1. ให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติกิจกรรมผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายฝึกการทำงานที่สอดคล้องกับชีวิตจริงตลอดจนสะท้อนความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ของผู้เรียน

2. จัดกิจกรรมอย่างสมดุลทั้ง 3 ลักษณะ คือ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียนและกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์โดยจัดกิจกรรมรายบุคคลกิจกรรมกลุ่มทั้งในและนอกสถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

3. จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ โดยการศึกษาและใช้ข้อมูลประกอบการวางแผนอย่างเป็นระบบเน้นการคิดวิเคราะห์และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการดำเนินกิจกรรม

4. ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้แบบร่วมมือมากกว่าเน้นการแข่งขันบนพื้นฐานการปฏิบัติตามวิถีประชาธิปไตย

5. จัดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่กิจกรรม

ขอบข่ายการจัดกิจกรรม พัฒนาผู้เรียน

สถานศึกษาต้องจัดกิจกรรมให้ครบทั้ง 3 ลักษณะ คือ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์ โดยสามารถจัดกิจกรรม พัฒนา ผู้เรียนได้หลากหลาย รูปแบบและวิธีการ โดยมีขอบข่าย ดังนี้

1. เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในลักษณะเป็นกระบวนการเชิงบูรณาการโดยยึดหลักคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนสามารถ บูรณาการระหว่างกิจกรรมแนะแนวกิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์

2. เป็นกิจกรรมที่ตอบสนองความสนใจ ความถนัด และความต้องการของผู้เรียนตาม ความแตกต่างระหว่างบุคคล เน้นการให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของวิชาความรู้ อาชีพ และการดำเนินชีวิต ที่ดีงาม ตลอดจนเห็นแนวทางในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพ

3. เป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังและส่งเสริมจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคมในลักษณะ ต่าง ๆสนับสนุนค่านิยมที่ดีงามและเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลาง การศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช2551

4. เป็นกิจกรรมที่ฝึกการทำงานและการให้บริการด้านต่าง ๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ ต่อตนเองและต่อส่วนรวมเพื่อเสริมสร้างความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทร ความเป็นพลเมืองดี และ ความรับผิดชอบต่อตนเองครอบครัวและสังคม

การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

การประเมินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551เป็นการประเมินโดยผู้เรียนต้องมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติกิจกรรม และมีผลงาน/ชิ้นงาน/คุณลักษณะผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

หลักการ

การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 เป็นการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมหรือผลงาน/ชิ้นงาน/คุณลักษณะของผู้เรียน เป็นระยะอย่างต่อเนื่องมุ่งเน้นให้ผู้เรียนค้นหาศักยภาพของตน สะท้อนแนวคิดจากการปฏิบัติ กิจกรรม การทำงานกลุ่มและการมีจิตสาธารณะโดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการประเมินแนวทางการประเมิน การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน มีแนวทางในการประเมินตามแผนภาพ ดังนี้

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดอย่างไรให้ครบถ้วนตามหลักสูตร ?? 4

เกณฑ์การตัดสิน

ผู้เรียนจะต้องได้รับการประเมินกิจกรรม พัฒนาผู้เรียนและผ่านเกณฑ์ตามที่สถานศึกษากำหนด โดยกำหนดเกณฑ์ในการประเมินอย่างเหมาะสม ดังนี้

1. กำหนดคุณภาพหรือเกณฑ์ในการประเมินตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดไว้ 2 ระดับ คือ ผ่าน และ ไม่ผ่าน

2.กำหนดประเด็นการประเมินให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์ในแต่ละกิจกรรมและ กำหนดเกณฑ์การผ่านการประเมิน ดังนี้

2.1 เกณฑ์การตัดสินผลการประเมินรายกิจกรรม

ผ่าน หมายถึง ผู้เรียนมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมครบตามเกณฑ์ ปฏิบัติกิจกรรมและมีผลงาน/ชิ้นงาน/คุณลักษณะตามเกณฑ์ที่สถานศึกษา กำหนด

ไม่ผ่าน หมายถึง ผู้เรียนมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมไม่ครบตามเกณฑ์ ไม่ผ่าน

การปฏิบัติกิจกรรมหรือมีผลงาน/ชิ้นงาน/คุณลักษณะไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด

แนวทางการแก้ไขนักเรียนกรณีไม่ผ่านเกณฑ์

กรณีที่ผู้เรียนไม่ผ่านกิจกรรมให้เป็นหน้าที่ของครูหรือผู้รับผิดชอบกิจกรรมนั้น ๆ ที่จะต้อง ซ่อมเสริมโดยให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมจนครบตามเวลาที่ขาดหรือปฏิบัติกิจกรรมให้บรรลุ ตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้นแล้วจึงประเมินให้ผ่านกิจกรรมเพื่อบันทึกในระเบียนแสดงผลการเรียนยกเว้นมีเหตุสุดวิสัยให้รายงานผู้บริหารสถานศึกษาทราบเพื่อดำเนินการช่วยเหลือผู้เรียน อย่างเหมาะสมเป็นรายกรณีไป

บทบาทของครูผู้รับผิดชอบกิจกรรม

1. ศึกษาหลักการ วัตถุประสงค์ ขอบข่าย แนวการจัดกิจกรรม การประเมินผลพัฒนาผู้เรียน และจัดกิจกรรม พัฒนาผู้เรียนให้บรรลุตามเป้าหมาย

2. ชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้เรียนและผู้ปกครองเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม พัฒนาผู้เรียน

3. ร่วมกับผู้เรียนออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสามารถ ความถนัด ความสนใจ ของผู้เรียน และเป็นไปตามหลักการ ปรัชญา และแนวการจัดกิจกรรมพัฒนานักเรียน

4. ส่งเสริม กระตุ้น และอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระในการจัดทำแผนงานโครงการร่วมปฏิบัติกิจกรรม และการประเมินผล

5. ให้คำปรึกษา ดูแล ติดตาม ประสานงาน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียน ในการร่วมกิจกรรมให้เป็นไปตามแผน

6. ประเมินผลการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้เรียนและซ่อมเสริมกรณีที่ผู้เรียนไม่ผ่านเกณฑ์พร้อมจัดทำเอกสารหลักฐานการประเมินผล

7.รายงานผลการดำเนินกิจกรรมให้ผู้เกี่ยวข้องทราบแล้วนำผลการจัดกิจกรรมมาพัฒนาและปรับปรุงแก้ไข

8. แลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่ผลงานที่ประสบผลสำเร็จกับหน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

แหล่งที่มาของข้อมูล

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่