ข้อบกพร่องของเด็ก LD
ข้อบกพร่องของเด็ก LD

ข้อบกพร่องของเด็ก LD สาเหตุ และแนวทางการดูแลช่วยเหลือ

เด็ก LD คือเด็กที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง หรือ Learning Disability คือเด็กที่มีระดับสติปัญญา (IQ) อยู่ในเกณฑ์ปกติ หรืออาจจะสูงกว่าปกติ แต่มีความสามารถในการเรียนรู้บกพร่องบางด้านที่ต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกันอย่างน้อยประมาณ 2 ชั้นปี

ข้อบกพร่องของเด็ก LD สาเหตุ และแนวทางการดูแลช่วยเหลือ 2

ข้อบกพร่องของเด็ก LD มักพบข้อบกพร่องใน 3 ด้านหลัก ๆ ได้แก่

ด้านการอ่าน  

จะพบมากที่สุด โดยลักษณะที่พบคือ เด็กอ่านหนังสือไม่ออกหรืออ่านได้ไม่เหมาะสมตามวัย เช่น สะกดไม่ถูก อ่านตกหล่น อ่านทีละตัวอักษรได้ แต่ผสมคำไม่ได้ แยกแยะพยัญชนะที่คล้ายกันไม่ออก เช่น ก – ถ – ภ หรือสับสนกับการผันสระและวรรณยุกต์ และไม่สามารถอ่านจับใจความได้

ด้านการเขียน

มักพบความบกพร่องทางด้านการอ่านร่วมด้วย ลักษณะที่พบคือ เขียนหนังสือไม่ได้ หรือเขียนได้ช้า ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าอยากจะเขียนอะไร เขียนตกหล่น เขียนสลับตำแหน่งหรือผิดตำแหน่ง เขียนสลับซ้ายขวาเหมือนส่องกระจก เขียนไม่เป็นประโยคที่สมบูรณ์ ใช้คำเชื่อมไม่ถูกต้อง เขียนลายมือโย้เย้ ขนาดตัวอักษรไม่เท่ากัน ขึ้นลงไม่ตรงบรรทัด และเว้นวรรคตอนหรือย่อหน้าไม่ถูกต้องจนคนอ่านไม่สามารถเข้าใจความหมายที่เด็กต้องการจะสื่อ

ด้านคณิตศาสตร์ 

พบปัญหาหลากรูปแบบ เช่น สับสนเรื่องตัวเลข ไม่เข้าใจค่าของตัวเลข ไม่เข้าใจการบวก ลบ คูณ หาร ไม่เข้าใจว่าหลักหน่วย หลักสิบ หลักร้อย ต่างกันอย่างไร ไม่สามารถแปลโจทย์ปัญหาเป็นประโยคสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ได้ หรือมีการคำนวณที่ผิดพลาดตกหล่นเป็นประจำ

สาเหตุของโรค LD ?

  • การทำงานของสมองบางตำแหน่งบกพร่อง โดยเฉพาะตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการใช้ภาษา
  • กรรมพันธุ์ มีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องมีปัญหาเดียวกัน
  • ความผิดปกติของโครโมโซม

อาการเด็ก LD

ทั้งนี้ ในเด็กบางคนอาจระบุชี้ชัดไม่ได้ว่ามีความบกพร่องทางด้านไหนโดยเฉพาะ เพราะมีอาการร่วมกันทั้ง 3 ด้าน นอกจากนี้ยังพบว่ามีเด็ก LD ถึงร้อยละ 70 ที่มีปัญหาความบกพร่องในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคนเช่น

  • ปัญหาในการพูดและสื่อสาร ทำให้พูดช้า พูดไม่ชัด หรือสับสนกับเสียงที่คล้าย ๆ กัน
  • เป็นโรคสมาธิสั้นร่วมด้วย โดยพบจำนวนถึง 2 ใน 3
  • ปัญหาด้านสายตาในด้านการกะระยะและการจำรูปทรง
  • ปัญหาในการประสานการทำงานของตาและกล้ามเนื้อ มือ ขา จึงทำกิจวัตรประจำวันที่ต้องใช้ความละเอียดของกล้ามเนื้อมือหรือขาทำได้ลำบาก
  • ปัญหาในการเรียงลำดับข้อมูล หรือการบริหารเรื่องเวลา
  • ปัญหาด้านพฤติกรรมและจิตใจ ที่มักจะพบภาวะเครียด เศร้า วิตก กังวล เบื่อหน่ายท้อแท้ มีปมด้อย ไม่มั่นใจ จนอาจแสดงออกด้วยการแยกตัว ต่อต้าน หรือก้าวร้าว เป็นต้น 

แนวทางการช่วยเหลือ เด็ก LD

  • การช่วยเหลือทางการแพทย์ เนื่องจากโรค LD สามารถเกิดรวมกับโรคอื่นๆได้บ่อย เช่น โรคสมาธิสั้น ดังนั้นแพทย์จึงมีบทบาทในการประเมิน วินิจฉัยภาวะต่างๆที่เด็กมี ร่วมถึงให้การรักษาภาวะเหล่านั้น เช่น โรคสมาธิสั้น หากได้รับยาช่วยสมาธิ อาการของโรคก็จะดีขึ้นมาก
  • การช่วยเหลือทางการศึกษา โรงเรียนควรจัดทำแผนการเรียนรายบุคคลให้สอดคล้องกับระดับความบกพร่องของเด็กแต่ละด้าน โดยทำความเข้าใจกับครูถึงปัญหาและความบกพร่องของเด็ก เน้นการสอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง เช่น การสะกดคำ อ่าน เขียนสอนเป็นกลุ่มย่อยหรือตัวต่อครั้งละ 30-45 นาที สัปดาห์ละ 4-5 วัน การช่วยอ่านบทเรียนให้ฟัง เพื่อให้เด็กได้เนื้อหา ความรู้ ได้เร็วขึ้น การให้เวลาในการทำสอบเพิ่มขึ้น เพื่อให้เด็กมีเวลาเพียงพอในการ อ่านโจทย์ และเขียนตอบ จะช่วยให้เด็กเรียนได้ดีขึ้น และควรส่งเสริมทักษะด้านอื่นๆ ที่เด็กสนใจ เช่น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เพื่อให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
  • การช่วยเหลือจากครอบครัว อธิบายให้เด็กและครอบครัวทราบถึงปัญหาและความบกพร่องเฉพาะด้านของเด็ก รวมทั้งความรู้สึกของเด็กที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ เปลี่ยนพฤติกรรมจากการตำหนิ ลงโทษ เป็นความเข้าใจ และสนับสนุนในการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ของเด็ก ชื่นชมเมื่อเด็กทำสำเร็จแม้ในเรื่องเล็กน้อยเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

ข้อบกพร่องของเด็ก LD ขอบคุณที่มา : สสส.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่