กวช.แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๒

(วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล) ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๓ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้แถลง ผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๒ ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จำนวน ๑๒ คน ประกอบด้วย

๑.สาขาทัศนศิลป์ จำนวน ๔ คน ได้แก่ -ประเภทวิจิตรศิลป์

๑.๑ นายอนันต์ ปาณินท์ (จิตรกรรม) 
          
คำประกาศเกียรติคุณ
๑.๒ นายสิงห์คม บริสุทธิ์ (ถ่ายภาพ) คำประกาศเกียรติคุณ

-ประเภทประยุกต์ศิลป์

๑.๓ นายชาตรี ลดาลลิตสกุล (สถาปัตยกรรม)                          คำประกาศเกียรติคุณ
๑.๔ นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ (การออกแบบแฟชั่น) 
คำประกาศเกียรติคุณ

๒.สาขาวรรณศิลป์ จำนวน ๒ คน ได้แก่

๒.๑ นายเริงชัย ประภาษานนท์                                                  
คำประกาศเกียรติคุณ 
๒.๒ นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา 
คำประกาศเกียรติคุณ 

๓.สาขาศิลปะการแสดง จำนวน ๖ คน ได้แก่ -ประเภทดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทย และศิลปะการแสดงพื้นบ้าน

๓.๑ นางศรีนวล ขำอาจ (เพลงพื้นบ้าน – ลำตัด)                          
คำประกาศเกียรติคุณ 
๓.๒ นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) 
คำประกาศเกียรติคุณ 

-ประเภทดนตรีสากล และนาฏศิลป์สากล

๓.๓ นายสติ สติฐิต (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล)                           
คำประกาศเกียรติคุณ 
๓.๔ นายวินัย พันธุรักษ์ (ดนตรีไทยสากล – ขับร้อง) 
คำประกาศเกียรติคุณ 

-ประเภทภาพยนตร์และละคร

๓.๕ นายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง (ภาพยนตร์และละคร)                คำประกาศเกียรติคุณ
๓.๖ นางอารีย์ นักดนตรี (ภาพยนตร์และละคร) คำประกาศเกียรติคุณ

ประธานกวช.กล่าวต่อว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ จะได้เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่ เชิดชูเกียรติ และรับค่าตอบแทน เดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท(สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) ตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ค่ารักษาพยาบาลตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยอนุโลม เว้นแต่มีสิทธิเบิกจากหน่วยงานอื่น ให้เบิกจากหน่วยงานนั้นก่อน ถ้าเบิกจากหน่วยงานนั้นได้ต่ำกว่าสิทธิตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ให้มีสิทธิเบิกในส่วนที่ยังขาดอยู่ได้อีกภายในวงเงินไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ บาท ต่อปีงบประมาณ ค่าช่วยเหลือเมื่อประสบสาธารณภัย ครั้งละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ต่อครั้ง ค่าของเยี่ยมในยามเจ็บป่วยหรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท ต่อครั้ง และกรณีเสียชีวิต จะได้รับเงินช่วยเหลือบำเพ็ญกุศลศพ รายละ ๒๐,๐๐๐ บาท และเงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง รายละไม่เกิน ๑๕๐,๐๐๐ บาท เป็นต้น

 ในการนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รองประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เปิดเผยถึงเกณฑ์การคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประกอบด้วย ๓ หลักเกณฑ์ใหญ่ ดังนี้

เกณฑ์ที่ ๑. คุณสมบัติของศิลปินแห่งชาติ     มี ๖ ประการ ได้แก่ เป็นผู้มีสัญชาติไทยและยังมีชีวิตอยู่ในวันประกาศยกย่อง / เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานดีเด่นเป็นที่ยอมรับของวงการศิลปะในสาขานั้น / เป็นผู้สร้างสรรค์และพัฒนาศิลปะในสาขาที่ ได้รับการประกาศยกย่อง / เป็นผู้ผดุง ถ่ายทอด เผยแพร่ หรือเป็นต้นแบบศิลปะในสาขาที่ได้รับการประกาศยกย่อง / เป็นผู้มีคุณธรรม ทุ่มเท และเสียสละเพื่องานศิลปะ / และเป็นผู้มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและมนุษยชาติ       

เกณฑ์ที่ ๒. คุณค่ามาตรฐานผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ     ผลงานต้องสื่อให้เห็นถึงคุณค่าในความดี ความจริง ความงาม อารมณ์ และคุณค่าทางจิตวิญญาณ แสดงออกถึงแนวคิด สร้างพลังความรู้และพัฒนาสติปัญญาแก่มนุษยชาติ ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ และส่งเสริมจินตนาการ และเป็นผลงานสร้างสรรค์มีเอกลักษณ์ มีทักษะสูงส่ง มีกลวิธีเชิงสร้างสรรค์ ไม่แสดงเจตนาหรือจงใจคัดลอกหรือเลียนแบบผลงานของผู้อื่นทั้งเปิดเผยและแอบแฝง       

เกณฑ์ที่ ๓. การเผยแพร่และการยอมรับคุณค่าผลงานของศิลปินแห่งชาติ     ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติ จะต้องมีการเผยแพร่ผลงานและได้รับการยอมรับ คุณค่าในผลงาน ดังนี้ เป็นผลงานที่ได้รับการจัดแสดง ถ่ายทอดหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง มีหลักฐาน อ้างอิง โดยเป็นผลงานที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิด พัฒนาการทางงานศิลปะอย่างเด่นชัด และเป็นผลงานได้รับรางวัล หรือเกียรติคุณระดับภูมิภาค ระดับชาติ หรือระดับนานาชาติ       ซึ่งมีกระบวนการพิจารณาที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ นี้ จะทำการคัดเลือกใน ๓ สาขา ได้แก่     

๑. สาขาทัศนศิลป์ หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา แบ่งเป็น วิจิตรศิลป์ และประยุกต์ศิลป์ วิจิตรศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สื่อผสม และภาพถ่าย ส่วนประยุกต์ศิลป์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมแบบประเพณีและร่วมสมัย มัณฑนศิลป์ การออกแบบผังเมือง การออกแบบอุตสาหกรรม และประณีตศิลป์ เป็นต้น      

๒. สาขาวรรณศิลป์ หมายถึง บทประพันธ์ที่แต่งอย่างมีศิลปะทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง มีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ความรู้สึกสะเทือนใจ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการและกลวิธีเสนอเรื่องที่น่าสนใจ      

๓. สาขาศิลปะการแสดง หมายถึง ศิลปะที่มีการแสดง ที่เป็นได้ทั้งวิจิตรศิลป์ ประยุกต์ศิลป์ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้าน โดยแบ่งเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ ๑.ดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทยและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ๒.ดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากล ๓.ภาพยนตร์และละคร       นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ มีศิลปินแห่งชาติ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ – ๒๕๖๑ แล้วจำนวน ๓๐๗ คน และในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จำนวน ๑๒ คน รวมทั้งสิ้น ๓๑๙ คน ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว ๑๔๖ คน โดยยังมีชีวิตอยู่ ๑๗๓ คน  

อนึ่ง กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๖๒ ทั้ง ๑๒ คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ ซึ่งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ หรือวัน เวลาใด ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ      

โดยภายหลังจากนี้จะได้จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ อันประกอบด้วย งานเลี้ยงแสดงความยินดี งานนิทรรศการและสื่อเผยแพร่ชีวประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผ่านสื่อต่างๆ ต่อไป      

สำหรับเยาวชนและประชาชนผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือทาง แฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.facebook.com/DCP.culture

ขอบคุณที่มา : กระทรวงวัฒนธรรม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่