แนวทางการจัดทำรายงาน SAR โรงเรียน ปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19
แนวทางการจัดทำรายงาน SAR ปีการศึกษา 2563 ในสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ครูอาชีพดอทคอมขอนำเสนอแนวทางจากข้อเสนอแนะ โดยขอบคุณข้อมูลจากเพจ งานประกันคุณภาพการศึกษา สพม 42 โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ
สำหรับ แนวทางการจัดทำรายงาน SAR ปีการศึกษา 2563ในช่วงปลายปีการศึกษา 2563 ภารกิจหลักของสถานศึกษา เกี่ยวกับการดำเนินการตามระบบประกันคุณภาพการศึกษาตามกฎกระทรวง การประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2561 คือ การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (Self – Assessment Report : SAR ) ซึ่งสถานศึกษาต้องดำเนินการหลังจากจัดการศึกษาผ่านไปแต่ละปีการศึกษา เพื่อสะท้อนภาพความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา ภายใต้บริบทของสถานศึกษาโดยสารสนเทศในรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษานั้นเป็นผลของการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของสถานศึกษา ครูและบุคลากรทุกคน ในสถานศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการประเมินและให้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของตนเอง
สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษา เป็นอย่างมาก ทำให้ต้องปิดสถานศึกษาด้วยเหตุพิเศษ ในหลายพื้นที่ แทบจะทั่วประเทศไทย ปฏิทินของการเปิด-ปิดภาคเรียน ก็ต้องเลื่อน อีกทั้งมีการจัดการเรียนการสอนด้วยรูปแบบพิเศษ โดยใช้เทคโนโลยีการจัดการศึกษาทางไกลในรูปแบบ ทั้ง ระบบ On Air, Online, On site , On demand, และ On hand นอกจากนี้ยังส่งผลต่อรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก ปีงบประมาณ 2564 ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประเมินคุณภาพภายนอก โดยสมศ. ได้กำหนดแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกภายใต้สถานการณ์ COVID-19 แบ่งการประเมินเป็น 2 ระยะ
1.การประเมินระยะแรก
เป็นการประเมินผลจากการวิเคราะห์ SAR ของสถานศึกษา ซึ่งส่งผ่านต้นสังกัด การประเมินจะพิจารณาจากสิ่งที่ปรากฏใน SAR และเอกสารประกอบที่แนบมากับ SAR เท่านั้น (ไม่ขอเอกสารเพิ่มเติมจากสถานศึกษาเพื่อลดภาระของสถานศึกษา) การสรุปผลการประเมิน SAR ออกเป็น 3 ระดับตามรายมาตรฐาน คือ ดี พอใช้ และปรับปรุง
2.การประเมินระยะที่สอง
เป็นการประเมินจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม (Site visit) โดยมีกำหนดเวลาน้อยสุด ไม่มีการประชุมสรุปผลการประเมินด้วยวาจาที่สถานศึกษา เพื่อลดการสัมผัสและยึดหลักการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) โดยผลการประเมินจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม (Site visit) มี 5 ระดับแยกตามรายมาตรฐาน คือ ดีเยี่ยม ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง
เมื่อการประเมินคุณภาพภายนอก เป็นประเมินผลจากการวิเคราะห์ SAR ของสถานศึกษา ดังนั้นรายงาน SAR ของปีการศึกษา 2563 นอกจากแนวทางการจัดทำรายงานผลการประเมินการประเมินตนเอง ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดย สำนักทดสอบทางการศึกษา ได้กำหนดไว้ สถานศึกษาควรต้องศึกษาเกณฑ์การประเมินรายงาน SAR ของ สมศ เพื่อที่จะต้องเขียนรายงาน ให้ครอบคลุมของเกณฑ์ในการประเมินรายงานการประเมินตนเอง ของ สมศ อีกด้วย ซึ่ง ตัวชี้วัดการประเมิน SAR ที่ สมศ. กำหนด มาจากระบบคุณภาพ หรือวงจรคุณภาพ (Plan Do Check Act) หรือ P D C A ตัวชี้วัด มี 5 ตัวชี้วัด
1 .มีการเขียน P-Plan การวางแผน กำหนดเป้าหมายในการดำเนินงานแต่ละมาตรฐานใน SAR
2. มีการเขียน D-Do ระบุ วิธีการ โครงการ กิจกรรมที่ดำเนินการใน SAR
3. มีการเขียน C-Check มีการระบุการกำกับติดตาม ตรวจสอบการดำเนินการตามแผน และการประเมินอย่างเป็นระบบ มีเครื่องมือ วิธีการ ผู้ที่ร่วมประเมินใน SAR
4. มีการเขียน A-Act มีการระบุการนำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไข ใน SAR
5. มีการระบุ แจ้ง A คือ รายงานผลการประเมินให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ และ นำผลการประเมินไปปรับปรุงแก้ไข และพัฒนาต่อ
ทั้งนี้ เกณฑ์การประเมิน SAR การศึกษาขั้นพื้นฐาน ประเมิน SAR รายมาตรฐาน โดยตรวจหาคำในรายงานที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด 5 ตัวชี้วัดดังนี้
มาตรฐานที่ 1 คุณภาพของผู้เรียน พิจารณา 5 ตัวชี้วัด
1. มีการระบุเป้าหมายคุณภาพของผู้เรียน
2. มีการระบุวิธีพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างเป็นระบบตามเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียน
3. มีผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนตามเป้าหมายการพัฒนาผู้เรียน
4. มีการนำผลประเมินคุณภาพของผู้เรียนไปพัฒนาผู้เรียนด้านผลสัมฤทธิ์ให้สูงขึ้น
5. มีการนำเสนอผลการประเมินคุณภาพผู้เรียนต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง
มาตรฐานที่ 2 กระบวนบริหารและการจัดการ พิจารณา 5 ตัวชี้วัด
1. มีการวางแผนการดำเนินการในแต่ละปีการศึกษา
2. มีการนำแผนการดำเนินการไปใช้ดำเนินการ
3. มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามแผน
4. มีการนำผลการประเมินฯ ไปใช้ในการปรับปรุงแก้ไขในปีการศึกษาต่อไป
5. มีการนำเสนอผลการบริหารจัดการของสถานศึกษาให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบ
มาตรฐาน ที่ 3 การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ พิจารณา 5 ตัวชี้วัด
1. ครูมีการวางแผนการสอนครบทุกรายวิชา ทุกชั้นปี
2. ครูทุกคนมีการนำแผนการสอนไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศและแหล่งเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้
3. มีการตรวจสอบและประเมินผู้เรียนอย่างเป็นระบบ
4. มีการนำผลการประเมินมาพัฒนาผู้เรียน
5. มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อมูลป้อนกลับเพื่อพัฒนาปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน
เกณฑ์ตัดสิน พิจารณาจากมีชื่อหลักฐานหรือข้อมูลปรากฏใน SAR ตามจำนวนตัวชี้วัด
มี 0 – 3 ข้อ ระดับคุณภาพปรับปรุง
มี 4 ข้อ ระดับคุณภาพ พอใช้
มี 5 ข้อ ระดับคุณภาพ ดี
เมื่อ เกณฑ์การประเมิน SAR การศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ประเมิน SAR เป็น รายมาตรฐาน โดยใช้วิธีตรวจหาคำที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัด 5 ตัวชี้วัด การเขียนรายงาน SAR ควรดำเนินการให้ครอบคลุม กระบวนการ PDCA รวมไปถึงการรายงานต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง บุคลากรในสถานศึกษา ผู้ปกครอง หน่วยงานต้นสังกัด และสาธารณชน รับทราบว่าสถานศึกษาได้บริหารจัดการสถานศึกษาและจัดการเรียนรู้ได้บรรลุเป้าหมายที่สถานศึกษาได้วางไว้และเป็นไปตามที่มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่สถานศึกษากำหนดมากน้อยเพียงใด พร้อมทั้งเป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาตนเองของสถานศึกษา ในจุดที่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของตนเองในอนาคต
กล่าวโดย สรุป การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา SAR เป็นภารกิจตามกฎกระทรวงการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่สถานศึกษาต้องดำเนินการหลังจากจัดการศึกษาในแต่ละปีการศึกษา เพื่อสะท้อนภาพความสำเร็จของการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมา ภายใต้บริบทของสถานศึกษา โดยสารสนเทศในรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา นั้นเป็นผลของการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในของสถานศึกษา ซึ่ง ครูและบุคลากรทุกคน ในสถานศึกษาต้องมีส่วนร่วมในการประเมิน และให้ข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของตนเอง ซึ่งจะต้องมีการประเมินเป็นระยะ อย่างสม่ำเสมอ และใช้ผลการประเมินระหว่างปี ปรับปรุงการทำงานตลอดเวลา ในการประเมินผลการดำเนินงานแต่ละระยะ ให้บันทึกข้อมูลพร้อมจัดทำและเก็บรวบรวมสารสนเทศ และเอกสารร่องรอยหลักฐานอย่างเป็นระบบไว้ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาที่มีคุณภาพต่อไป เมื่อดำเนินการประเมินคุณภาพภายในเรียบร้อยแล้ว สถานศึกษา ต้องจัดทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาให้บุคลากรในสถานศึกษา หน่วยงานต้นสังกัด และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเรียนผู้ปกครองและสาธารณชนรับทราบว่าสถานศึกษาได้บริหารจัดการสถานศึกษาและจัดการเรียนรู้ได้บรลุเป้าหมายที่สถานศึกษาได้วางไว้และเป็นไปตามที่มาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาที่สถานศึกษากำหนดมากน้อยเพียงใดพร้อมทั้งเป็นการนำเสนอแนวทางการพัฒนาตนเองของสถานศึกษาในจุดที่ต้องได้รับการพัฒนา เพื่อเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของตนเองในอนาคต อีกทั้งหน่วยงานต้นสังกัด สามารถใช้ผลการประเมินจากรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษาในการตัดสินใจกำหนดนโยบายต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพของสถานศึกษาในสังกัดต่อไป
ขอบคุณที่มา : เพจ งานประกันคุณภาพการศึกษา สพม 42