นโยบายและจุดเน้นของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 แบบเข้าใจง่าย
เพื่อให้การดําเนินการจัดการศึกษาและการบริหารจัดการการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2563 มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ ยุทธศาสตร์ชาติ วัตถุประสงค์ของแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะ นโยบายเร่งด่วน เรื่องการเตรียมคนสู่ศตวรรษที่ 21 ขอบคุณเนื้อหา และภาพจากอักษรเจริญทัศน์ (อจท.) ด้วยครับ
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 8 และมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหาร ราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศนโยบายและจุดเน้น ของกระทรวงศึกษาธิการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ดังนี้
หลักการ
- ให้ความสำคัญกับประเด็นคุณภาพและประสิทธิภาพในทุกมิติ ทั้งผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ข้าราชการพลเรือน และผู้บริหารทุกระดับ ตลอดจนสถานศึกษาทุกระดับทุกประเภท และเป็นการศึกษาตลอดชีวิต
- บูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างส่วนราชการหลัก องค์การมหาชนในกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้มีความคล่องตัว รวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ในพื้นที่ภูมิภาคให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้ เพื่อดำเนินการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนตามนโยบายประชารัฐ
ระดับก่อนอนุบาล
เน้นประสานงานกับส่วนราชการ และชุมชน ในการเตรียมความพร้อมผู้เรียน ในด้านสุขภาพและโภชนาการ และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับระบบโรงเรียนปกติ
ระดับอนุบาล
เน้นสร้างความร่วมมือกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อออกแบบกิจกรรมการพัฒนา ทักษะที่สำคัญด้านต่างๆ เช่น ทักษะทางสมอง ทักษะความคิดความจำ ทักษะการควบคุมอารมณ์ ทักษะการรู้จักและประเมินตนเอง
ระดับประถมศึกษา
- ปลูกฝังความมีระเบียบวินัย ทัศนคติที่ถูกต้อง โดยใช้กระบวนการลูกเสือ ยุวกาชาด
- เรียนภาษาไทย เน้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้วิชาอื่น
- เรียนภาษาอังกฤษและภาษาพื้นถิ่น (ภาษาแม่) เน้นเพื่อการสื่อสาร
- เรียนรู้ด้วยวิธีการ Active Learning เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การเรียนรู้ จากประสบการณ์จริง หรือจากสถานการณ์จำลองผ่านการลงมือปฏิบัติ และเปิดโลกทัศน์มุมมองร่วมกัน ของผู้เรียนและครู ด้วยการจัดการเรียนการสอนในเชิงแสดงความคิดเห็นให้มากขึ้น
- สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ และใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือการเรียนรู้
- จัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะการคิดแบบมีเหตุผลและเป็นขั้นตอน (Coding)
- พัฒนาครูให้มีความชำนาญในการสอนภาษาอังกฤษ และภาษาคอมพิวเตอร์ (Coding)
- จัดให้มีโครงการ 1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ โดยเน้นปรับสภาพแวดล้อมทั้งภายใน และภายนอก บริเวณโรงเรียนให้เอื้อต่อการสร้างคุณธรรม จริยธรรม และจิตสาธารณะ
ระดับมัธยมศึกษา
มุ่งต่อยอดระดับประถมศึกษา ด้วยจุดเน้น ดังนี้
- จัดการเรียนรู้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ (STEM) และภาษาต่างประเทศ (ภาษาที่สาม)
- จัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อสร้างทักษะพื้นฐานที่เชื่อมโยงสู่การสร้างอาชีพ และการมีงานทำ เช่น ทักษะด้านกีฬาที่สามารถพัฒนาไปสู่นักกีฬาอาชีพ ทักษะภาษาเพื่อเป็นมัคคุเทศก์
ระดับอาชีวศึกษา
มุ่งจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำและสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของพื้นที่ชุมชน ภูมิภาคหรือประเทศ รวมทั้งการเป็นผู้ประกอบการเอง ด้วยจุดเน้น ดังนี้
- จัดการศึกษาในระบบทวิภาคี ให้ผู้เรียนมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
- เรียนภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มทักษะสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพ
- เรียนรู้การใช้ดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับในการสร้างอาชีพ
- จัดตั้งศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในภูมิภาค
การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
มุ่งสร้างโอกาสให้ประชาชนผู้เรียนที่สำเร็จหลักสูตร สามารถมีงานทำ ด้วยจุดเน้น ดังนี้
- เรียนรู้การใช้ดิจิทัล เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำหรับหาช่องทางในการสร้างอาชีพ
- จัดทำหลักสูตรพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่เข้าสังคมสูงวัย
มาทำความเข้าใจนโยบายในแบบฉบับง่ายๆ จากโพสต์นี้กันครับ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ > http://bit.ly/2KZlwE1
ขอบคุณแหล่งที่มา
#จุดเน้นกระทรวงศึกษาฯปี2563
#อักษรช่วยครูสรุป
#ยืนหนึ่งเรื่องการศึกษาต้องอักษร