รู้จัก Fight Covid ร่วมมือสู้ COVID-19 ด้วยแผนที่ระบุพิกัดขายเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย
ปัจจุบันที่ประเทศไทยกำลังเจอปัญหาโรคไวรัสโรโรนา 2019 หรือ COVID-19 ทำให้มีบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี และสตาร์ทอัพสัญชาติไทยจำนวนไม่น้อย ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนในสังคมในช่วงที่โควิด-19 กำลังระบาดรุนแรง ตัวอย่างเช่น Covidtracker โดย 5Lab, maskmapthai.web.app โดย Eggyothin Pila หรือ GooCare โดย Almond Digital Group
ล่าสุด เรามีโอกาสได้รู้จักกับ ‘Fight Covid’ แพลตฟอร์มระบุพิกัดจำหน่ายแอลกอฮอล์ล้างมือและหน้ากากอนามัย รวมถึงหน้ากากผ้า ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มแบบ Crowdsourcing Platform ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้ามาอัปเดตข้อมูลกันได้ด้วยตัวเองแบบเรียลไทม์ผ่าน www.verblick.org/covid19/# ช่วยให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ด้วยตัวเองแบบไม่ต้องเสียเวลาตระเวนหา
อิทธิกร แสงชื่นถนอม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวอร์บลิค จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังแพลตฟอร์ม Fight Covid ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงที่มาที่ไปว่า เกิดจากการที่ทีมงานของเขามองว่า ปัจจุบัน หน้ากากอนามัย เจลล้างมือกลายเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ยากมากๆ จึงอยากจะพัฒนาแพลตฟอร์มที่เป็นแหล่งข้อมูลให้ทุกคนเข้าถึงได้ขึ้นมา เพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคน
โดยใช้วิธีการพัฒนาแพลตฟอร์มในรูปแบบ Crowdsourcing เพื่อที่ผู้ใช้งานทุกคนจะสามารถเข้ามาทำหน้าที่ ‘กระบอกเสียง’ ใส่ข้อมูลเพิ่มเติมเข้าไป ให้ข้อมูลร้านค้าที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์มีการอัปเดตแบบเรียลไทม์
“พวกเราเริ่มต้นทำกันตั้งแต่ประมาณวันพุธของสัปดาห์ที่แล้วด้วยทีมงาน 5 คน ภายใต้การทำงานร่วมกับทีม 1DD ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งระบบการกรองข้อมูล จะมีการตรวจสอบทุกวันว่าข้อมูลใดหรือพิกัดไหนที่ส่งเข้ามามีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร
“เรามีระบบคอมเมนต์เพื่อให้ผู้ใช้งานแสดงความเห็นกรณีที่ร้านนั้นๆ ขายของเกินราคา หรือสินค้าหมดสต๊อกด้วย เพราะตั้งใจจะพัฒนาให้มันเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้แพลตฟอร์มมันดีขึ้น”
อิทธิกร กล่าวทิ้งท้ายว่า ในอนาคตหากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยุติลงแล้ว เขาก็อยากจะให้แพลตฟอร์มของตัวเองสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้คนในสถานการณ์อื่นๆ ต่อไปได้ เนื่องจากหวังจะเป็นจิ๊กซอว์เล็กๆ ที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม ตัวอย่างเช่น การแจ้งพิกัดน้ำท่วม หรือถนนชำรุด เป็นต้น
ขอบคุณที่มา : The Standard