วินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู
วินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู

สรุป วินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู

ความหมายของคุณธรรม

คำว่า “คุณธรรม จริยธรรม และ ศีลธรรม” การออกแบบน้องคุณธรรม น้องจริยธรรม และน้องศีลธรรม เพื่อแทนค่าความหมายของ คำว่า “คนดี” ให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่สามารถสัมผัสได้ อันจะเป็นการกระตุ้นเตือนใจ ให้เกิดอนุสติ มีจิตสำนึกในการตั้งตน อยู่ในความดีงามตลอดไป คุณธรรม คือ ความดีงามที่ถูกปลูกฝังขึ้นในจิตใจ จนเกิดจิตสำนึกที่ดี มีความกตัญญู เป็นต้น จริยธรรม คือ การประพฤติปฏิบัติตามความดีงามแห่งคุณธรรมนั้น และ ศีลธรรม คือ การไม่ละเมิดต่อสิ่งที่จะเป็นเหตุทำลายความดีงามแห่งคุณธรรมจริยธรรมให้เสื่อมลง

คุณธรรม คือ ความดีงามที่ถูกปลูกฝังขึ้นในจิตใจ มีความกตัญญู ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ สามัคคี มีวินัย มีน้ำใจ และ เป็นสุภาพชน เป็นต้น จนเกิดจิตสำนึกที่ดี รู้สึกรับผิดชอบ ชั่ว ดี เกรงกลัวต่อการกระทำความชั่ว โดยประการต่างๆ เมื่อจิตเกิดคุณธรรมขึ้นแล้ว จะทำให้เป็นผู้มีจิตใจดี และคิดแต่สิ่งที่ดี จึงได้ชื่อว่า “เป็นผู้มีคุณธรรม”

จริยธรรม คือ การประพฤติปฏิบัติ การกระทำดี ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในจิตใจ ปรากฏเป็นความดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ เมื่อความดีงาม มีความกตัญญู ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ สามัคคี มีวินัย มีน้ำใจ และ เป็นสุภาพชน เป็นต้น ถูกแสดงออกทางจรรยา มารยาท การประพฤติปฏิบัติ และการกระทำที่ดี ตามคุณธรรมที่มีในจิตใจนั้น จึงได้ชื่อว่า “เป็นผู้มีจริยธรรม”

ศีลธรรม คือ ข้อปฏิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้ละเมิด ต่อสิ่งที่จะทำลายความดีงามแห่งคุณธรรมจริยธรรม ให้เสื่อมลง ทั้งกฎหมาย ระเบียบ วินัย และจารีตประเพณี ที่ดีงามของสังคม เมื่อเกิดศีลธรรมขึ้นแล้ว ก็จะนำความสงบร่มเย็นใจ มาสู่ตนเอง ครอบครัว และสังคม จึงได้ชื่อว่า “เป็นผู้มีศีลธรรม”

ที่มา:พระวิจิตรธรรมาภรณ์ (เทอด ญาณวชิโร)

การประเมินวินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู เพื่อให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางทางการศึกษามีและเลื่อนวิทยฐานะ(ชำนาญการพิเศษ) จะประเมินใน 6 เรื่อง ได้แก่

               1.พฤติกรรมการรักษาระเบียบวินัย ได้แก่ การควบคุมการประพฤติปฏิบัติของตนเองให้อยู่ในกฎระเบียบของหน่วยงานและสังคมในกรณีมีความรับผิดชอบและซื่อตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยยึดถือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ

               2.การประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ได้แก่ พฤติกรรมการปฏิบัติทั้งพฤติกรรมส่วนตนและพฤติกรรมการปฏิบ้ติงาน ทั้งในเรื่องความสามัคคีและวิถีประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต

               3.การดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม ได้แก่ การประพฤติปฎิบัติตนในการดำรงชีวิตที่ยึดหลักความพอเพียง การหลีกเลี่ยงอบายมุข การรู้รักสามัคคีและวิถีประชาธิปไตยในการดำเนินชีวิต

               4.ความรักและศรัทธาในวิชาชีพ ได้แก่ ความพึงพอใจและอุทิศเวลาในการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ โดยมุ่งผลสำเร็จที่เป็นความเจริญก้าวหน้าของการจัดการศึกษา

               5.ความรับผิดชอบในวิชาชีพ ได้แก่ การปฏิบัติงานในหน้าที่โดยคำนึงถึงความถูกต้อง ความซื่อสัตย์สุจริต และผลประโยชน์ของหน่วยงานและผู้รับบริการเป็นสำคัญ

               6.ค่านิยม และอุดมการณ์ของความเป็นครู และบุคลากรทางการศึกษา ได้แก่ ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ 

วินัยของข้าราชการครู

สรุป วินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู
สรุป วินัย คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพครู ที่มา : สำนักงาน ก.ค.ศ.

วินัย เป็นกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ และแบบธรรมเนียมที่กำหนดให้ปฏิบัติตามหรืองดเว้นการปฏิบัติ  

  •  ข้าราชการต้องรักษาวินัยโดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามถือว่า ผู้นั้นกระทำผิดวินัยจะต้องได้รับโทษ (มาตรา 65)
  •  ผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ส่งเสริมและดูแลระมัดระวังให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ปฏิบัติตามวินัย ถ้ารู้ว่าผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาคนใดกระทำผิดวินับ จะต้องดำเนินการทางวินัยทันที
  •  ผู้บังคับบัญชาผู้ใดละเลย ไม่ปฏิบัติหน้าที่ ผู้นั้นกระทำผิดวินัย (มาตรา 82)

วินัยและการรักษาวินัย  

          1.ครูต้องประพฤติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพและแบบแผนพฤติกรรมตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ

            2.ครูต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธ์ใจและมีหน้าที่วางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครองเช่นว่านั้น

            3.ครูต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสมอภาคและเที่ยงธรรม มีความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่รักษาประโยชน์ของทางราชการและต้องปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด              

            4.ครูต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ และหน่วยงานการศึกษา มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาลโดยถือประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนและไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ              

            5.ครูต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งในหน้าที่ราชการโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของทางราชการโดยไม่ขัดขืนหรือหลีกเลี่ยง              

            6.ครูต้องตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียนจะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรมิได้ การละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อในคราวเดียวกันเป็นเวลาเกินกว่าสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์อันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการเป็นความผิดวินัยร้ายแรง

            7.ครูต้องประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ชุมชน สังคม มีความสุภาพเรียบร้อย รักษาความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อผู้เรียนและระหว่างข้าราชการด้วยกันหรือผู้ร่วมปฏิบัติราชการ ต้อนรับ ให้ความสะดวก ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้เรียนและประชาชนผู้มาติดต่อราชการ        

            8.ครูต้องไม่กลั่นแกล้ง กล่าวหาหรือร้องเรียนผู้อื่นโดยปราศจากความเป็นจริง              

            9.ครูต้องไม่กระทำการหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการหาประโยชน์อันอาจทำให้เสื่อมเสียความเที่ยงธรรม หรือเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ในตำแหน่งหน้าที่ราชการของตน                 

          10.ครูต้องไม่คัดลอกหรือลอกเลียนผลงานทางวิชาการของผู้อื่นโดยมิชอบหรือนำเอาผลงานทางวิชาการของผู้อื่นหรือจ้างวานให้ผู้อื่นทำผลงานทางวิชาการเพื่อไปใช้ในการเสนอขอปรับปรุงการกำหนดตำแหน่ง การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนวิทยฐานะหรือการให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขี้น การฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง                

           11.ครูต้องไม่เป็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้จัดการหรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันนั้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท                

           12.ครูต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยต้องไม่อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนแสดงการฝักใฝ่ ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด

            13.ครูต้องรักษาชื่อเสียงของตนและรักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสียโดยไม่กระทำการใดๆ อันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว

โทษผิดวินัยมี 5 สถาน

  1. ภาคทัณฑ์
  2. ตัดเงินเดือน
  3. ลดขั้นเงินเดือน
  4. ปลดออก
  5. ไล่ออก

การพิจารณาลงโทษทางวินัย

  1. ความผิดไม่ร้ายแรงมีโทษ ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน วิธีพิจารณา กฎหมายไม่บังคับให้ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผู้บังคับบัญชาลงโทษได้เอง เพียงให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงแก้ข้อหาก็ลงโทษได้
  2. ความผิดร้ายแรง ปลดออก ไล่ออก วิธีพิจารณา ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวน เสนอ อ.ก.ค. กรม พิจารณามีมติให้ลงโทษเสียก่อน ผู้บังคับบัญชาจึงสั่งลงโทษได้ ข้อยกเว้นที่ไม่ต้องสอบสวน ให้ถ้อยคำรับสารภาพเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาจึงสั่งลงโทษหรือต่อคณะกรรมการสอบสวน กรณีความผิดที่ชัดแจ้ง ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 7 ความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง มีความผิดวินัยอย่างร้ายแรงอยู่ 2 กรณี เรียกว่า “ความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง” คือ   (1) ละทิ้งหน้าที่ราชการติดต่อกันเกินกว่า 15 วัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือโดยมีพฤติการณ์ที่แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ ( 2) กระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความความผิดลหุโทษ “ความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง” ต่างกับความผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีอื่น ๆ อยู่ประการหนึ่ง คือ ความผิดวินัยอย่างร้ายแรงในกรณีอื่น ๆ ก่อนจะลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนก่อน แต่ “ความผิดที่ปรากฎชัดแจ้ง” ผู้มีอำนาจจะลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก โดยไม่สอบสวนก็ได้

 ข้อควรทราบในการดำเนินการทางวินัย

  1. ความผิดทางวินัยไม่มีอายุความ เช่น โกงค่าเช่าบ้านตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ตรวจพบเมื่อปี 2530 ถ้าผู้นั้นยังเป็นข้าราชการอยู่ก็สามารถดำเนินการทางวินัยได้
  2. ความผิดทางวินัยยอมความกันไม่ได้ เช่น ครู 2 คน ชกกันต่อหน้านักเรียนแม้ต่างฝ่ายต่างไม่เอาเรื่องกัน ก็ไม่พ้นความรับผิดทางวินัย
  3. ความผิดทางวินัยไม่อาจชดใช้ด้วยเงิน เช่น ยักยอกเงินราชการไปแล้วนำมาคืนครบถ้วนก็ไม่อาจลบล้างความผิดทางวินัยได้
  4. ความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง หัวหน้าสถานศึกษาลงโทษโดยไม่ตั้งกรรมการสอบสวนก็ได้ เช่น ครูไม่เข้าสอน สอบถามแล้วปรากฏว่าแอบไปนอนหลับที่บ้านพักครู กรณีเช่นนี้หัวหน้าสถานศึกษาลงโทษครูผู้นั้นได้เลยโดยไม่ต้องตั้งกรรมการสอบสวนอีก
  5. ข้าราชการครูที่อยู่ในระหว่างถูกสอบสวนทางวินัยมีสิทธิ์ลาออกจากราชการ ผู้บังคับบัญชาจะอ้างการสอบสวนมายับยั้งการลาออกไม่ได้ แต่การสอบสวนไม่ยุติต้องดำเนินการต่อไป

 หลักการพิจารณาความผิด 

  1. นำพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาที่ปรากฎในเอกสารสืบสวน สอบสวน มาพิจารณาว่าเป็นพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยวินัยหรือไม่ 
  2. ถ้าพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วย มาตราใดฐานใดก็ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาลักษณะทำผิดนัยมาตรานั้น ฐานนั้น 
  3. ถ้าพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยวินัย ก็ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้กระทำผิดวินัย การกำหนดโทษ

 วิธีในการกำหนดโทษ 

  1. ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จะลงโทษต่ำกว่าให้ออกราชการไม่ได้
  2. ความผิดวินัยไม่ร้ายแรง ระดับโทษไม่เกินลดขั้นเงินเดือน
  3. ความผิดเล็กน้อย ลงโทษภาคทัณฑ์
  4. ความผิดเล็กน้อย และเป็นความผิดครั้งแรก ถ้าผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีเหตุอันควรลงโทษจะงดโทษ โดยว่ากล่าวตักเตือน หรือให้ทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไว้ก่อนก็ได้ 

วิธีการสั่งลงโทษ

  1. ต้องออกเป็นคำสั่ง
  2. ในคำสั่งให้แสดงว่าผู้ถูกลงโทษกระทำความในกรณีใด ตามมาตราใด

อำนาจการสั่งลงโทษของหัวหน้าสถานศึกษา

  1. ผู้อำนวยการโรงเรียนและอาจารย์ใหญ่ ลงโทษข้าราชการครูในบังคับบัญชา สถานภาคทัณฑ์ และตัดเงินเดือน (ครั้งหนึ่งไม่เกิน 10% เป็นเวลาไม่เกิน 2 เดือน)
  2. ครูใหญ่ ลงโทษข้าราชการครูในบังคับบัญชาสถานภาคทัณฑ์ และตัดเงินเดือน (ครั้งหนึ่งไม่เกิน 10% เป็นเวลาไม่เกิน 1 เดือน)

การสืบสวนควรกระทำเมื่อ

  1. มีความเสียหายเกิดขึ้นแต่ไม่ทราบว่าผู้กระทำคือใคร เช่น ข้อสอบรั่ว แต่ไม่ทราบว่าเกิดจากการกระทำของผู้ใด
  2. ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย แต่ยังไม่ทราบว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูลหรือไม่ (มีมูล หมายถึง มีเหตุผลน่าเชื่อ) เช่น ผู้ปกครองนักเรียนมาฟ้องว่า ครูเกษตรเก็บเงินนักเรียนอ้างว่า จะไปซื้อต้นไม้มาใช้ในการเรียนการสอนแต่ไม่ได้ซื้อ เงินก็ไม่คืน เรื่องที่ผู้ปกครองมาฟ้องนี้ จะจริงหรือไม่ น่าเชื่อหรือไม่ ยังไม่ทราบ ต้องสืบสวนดูก่อน
  3. ผู้ใต้บังคับบัญชาหยุดงานติดต่อกันเกิน 15 วัน (การสืบสวน กรณีนี้ เป็นการสืบสวนตามกฎหมาย ฉบับที่ 8 (พ.ศ.2528) เพื่อต้องการทราบว่าที่หยุดไปนี้มีเหตุผลอันสมควรหรือไม่)

ผู้มีหน้าที่สืบสวน

  1. หัวหน้าสถานศึกษา
  2. ผู้ที่หัวหน้าสถานศึกษามอบหมาย
  3. หัวหน้าสถานศึกษาสืบสวนร่วมกับผู้ที่หัวหน้าสถานศึกษามอบหมาย

การสืบสวนทำได้หลายวิธี เช่น

  1. สอบถาม
  2. ตรวจสอบ
  3. ให้ชี้แจง

การสอบสวนทางวินัย มี 2 ประเภท ได้แก่

  1. การสอบสวนทางวินัยไม่ร้ายแรง การสอบสวนประเภทนี้หัวหน้าสถานศึกษา มีอำนาจ แต่งตั้งกรรมการสอบสวน
  2. การสอบสวนทางวินัยร้ายแรง หัวหน้าสถานศึกษาไม่มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการสอบสวน ผู้มีอำนาจได้แก่ ในระดับจังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และในระดับกรม คือ อธิบดีกรมสามัญศึกษา

การสอบสวนจะกระทำเมื่อ

  1. ผู้ใต้บังคับบัญชาถูกกล่าวว่ากระทำผิดวินัย และ
  2. ข้อกล่าวหานั้นมีมูล (2.1)  ถ้าข้อกล่าวหานั้นเป็นข้อกล่าวหาวิธีกรทำผิดวินัยไม่ร้ายแรงจะแต่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่ร้ายแรง (2.2)  ถ้าข้อกล่าวหานั้นเป็นข้อกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจะต้องตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง

หลักเกณฑ์วิธีการสอบสวน

  1. การสอบสวนทางวินัยไม่ร้ายแรง ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการไว้ กรรมการสอบสวนจึงชอบที่จะดำเนินการใด ๆ ตามที่เห็นสมควรได้
  2. การสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ต้องปฏิบัติตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2528) โดยเคร่งครัด มิฉะนั้นการสอบสวนอาจเสียไปทั้งหมด

คุณธรรม จริยธรรมของครู                                  

            1.ครูต้องมีความขยันหมั่นเพียร                

            2.ครูต้องมีวินัยตนเอง              

            3.ครูต้องรู้จักปรับปรุงตนเอง             

            4.ครูต้องให้ความช่วยเหลือผู้อื่น           

            5.ครูต้องบำเพ็ญประโยชน์เพื่อชุมชน             

            6.ครูต้องเสียสละเพื่อสาธารณะประโยชน์          

            7.ครูต้องรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น               

            8.ครูต้องมีความกตัญญูกตเวที              

            9.ครูต้องไม่ประมาท               

          10.ครูต้องปฏิบัติต่อผู้อาวุโสในทางที่ดี         

            11.ครูต้องมีสัจจะและแสดงความจริงใจ               

            12.ครูต้องมีความเมตตากรุณา      

            13.ครูต้องมีความอดทน อดกลั้น               

            14.ครูต้องมีความซื่อสัตย์           

            15.ครูต้องมีระเบียบวินัยและตรงต่อเวลา          

            16.ครูต้องมีการให้อภัย              

            17.ครูต้องประหยัดและอดออม               

            18.ครูต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่               

            19.ครูต้องมีความรับผิดชอบ             

            20.ครูต้องจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

จรรยาบรรณวิชาชีพครู

        1.ครูต้องรักษาวินัยที่บัญญัติเป็นข้อห้ามและข้อปฏิบัติไว้ในหมวดนี้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ

        2.ครูต้องมีวินัยในตนเอง พัฒนาตนเองด้านวิชาชีพ บุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ

         3.ครูต้องรัก ศรัทธา ซื่อสัตย์สุจริต รับผิดชอบต่อวิชาชีพ และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพ

         4.ต้องรัก เมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจแก่ศิษย์และผู้รับบริการตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ

         5.ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ

         6.ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์ หรือผู้รับบริการ

         7.ครูต้องให้บริการด้วยความจริงใจและเสมอภาคโดยไม่เรียกรับหรือยอมรับผลประโยชน์จากการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ

         8.ครูต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดมั่นในระบบคุณธรรม สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ

         9.ครูต้องประสงค์ปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญา สิ่งแวดล้อม รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

แนวทางการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของครู

การที่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งจําเป็นในระดับต้น ๆ ที่ต้องทําการพัฒนา เพื่อให้ครูมีความรู้ที่จะนําไปใช้กับตนเองและการทํางาน รวมทั้งสามารถใช้ได้อย่างถูกต้อง ในเรื่องนี้จึงเสนอแนวทางการพัฒนาความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมโดยอิงหลักพื้นฐานทางศาสนา โดยสรุปประเด็นสําคัญได้ดังนี้ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต 2538,น. 32-78)

1. การเข้าใจความหมายและเป้าหมายที่ถูกต้อง

การเข้าใจความหมายและเป้าหมายที่ถูกต้องของคุณธรรมจริยธรรมจะช่วยให้ครูมีความเข้าใจตรงตามแก่นสาระของ
คุณธรรมจริยธรรมนั้นและป้องกันการใช้อย่างไม่ถูกต้อง  เช่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ มานะ และสันโดษ
ตัวอย่างการเข้าใจความหมายที่ถูกต้องของ มานะ
มานะ ในภาษาบาลี หมายถึง ความถือตัว ต้องการเด่นเหนือคนอื่น ต้องการความยิ่งใหญ่ แต่คนทั่วไปจะมีความ
เข้าใจว่า มานะ หมายถึง ความเพียรพยายาม ความอดทน เช่น ลูกต้องมานะพากเพียรเรียนหนังสือจะได้เป็นใหญ่เป็นโตและ
ร่ํารวย ซึ่งเป็นการใช้มานะเป็นตัวกระตุ้นพฤติกรรมการขยันอดทนที่จะนําไปสู่ความสําเร็จที่ต้องการคือความยิ่งใหญ่
ความหมายของมานะจึงกลายเป็นความสําเร็จหรือความเพียร ผลคือถ้าคนมีมานะเป็นตัวขับที่เด่นในจิตใจแล้ว จะกลายเป็น
คนที่ยอมใครไม่ได้ ทํางานเป็นทีมไม่ได้ รวมทั้งมีความพยายามแม้ในสิ่งที่ไม่ควร เช่น การทําผิดกฎระเบียบเพื่อแสดงว่าตนมี
ความสามารถทำในสิ่งที่คนอื่นทําไม่ได้
ตัวอย่างการเข้าใจเป้าหมายที่ถูกต้องของ สันโดษ
สันโดษ เป้าหมายของสันโดษ คือ เพื่อให้คนมีความพอใจในสิ่งที่ได้มาด้วยความเพียรพยายามของตนเองโดยสุจริตไม่
อยากได้ในสิ่งที่ไม่ได้ทําเองหรือเป็นของคนอื่น สันโดษจึงป้องกันความโลภและอยากได้ของของคนอื่นโดยง่ายและป้องกันการ
กระทําทุจริต แต่คนทั่วไปจะใช้สันโดษในความหมายว่าความพอใจตามมีตามได้ พอใจในสิ่งที่ตัวมี ไม่ทะเยอทะยานดิ้นรน
ขวนขวาย โดยมีเป้าหมายคือเพื่อจะได้มีความสุขซึ่งมิใช่เป้าหมายที่แท้จริงของสันโดษ เป็นแต่เพียงผลพลอยได้ของสันโดษ

2. การพัฒนาเป็นชุดจริยธรรม

เนื่องจากคุณธรรมจริยธรรมแต่ละประการจะมีคุณธรรมจริยธรรมอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กันและประกอบกันเพื่อให้เกิดคุณ
ค่าที่แท้จริง การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมจึงไม่อาจพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมประการเดียวแบบเดี่ยว ๆ ได้ ต้องพัฒนาใน
ลักษณะที่เป็นชุดจริยธรรม

3. การพัฒนาจริยธรรมที่ครบวงจร

จริยธรรมที่จะเกิดผลตามหลักธรรมนั้นจะต้องได้รับการพัฒนาที่ครบวงจร หากไม่ครบวงจรจะไม่เกิดผลดีตาม
หลักการและอาจเกิดผลเสียด้วยตัวอย่างเช่น คุณธรรมเกี่ยวกับสันโดษ การที่สันโดษมีเป้าหมายเพื่อการพอใจสิ่งได้มาด้วย
ความเพียรในทางที่สุจริต จะทําให้จิตใจของผู้มีความสันโดษไม่วุ่นวายกังวลกับการแสวงหาทางวัตถุ ทําให้สามารถใช้เวลาและกําลังความสามารถในการทําหน้าที่และสิ่งที่ดีงามได้อย่างเต็มที่ จริยธรรมที่เป็นชุดและการครบวงจรของสันโดษจึงต้องมีทั้งความพอใจ การใช้ความสามารถในทางที่ถูกต้องการเพียรพยามยามทำกิจหน้าที่ และการมีความสุขกับสิ่งที่ได้จากความเพียร ที่ถูกต้องนั้น การไม่พัฒนาเป็นชุด 

จริยรรมที่ครบวงจรจะไม่เกิดผลเป็นความสันโดษ ซึ่งผู้ที่ไม่มีความสันโดษจะไม่มีเป้าหมายที่งานจึงไม่รักงาน ทํางาน
ด้วยความจําใจ หากมีโอกาสหลีกเลี่ยงหรือมีหนทางที่ได้มาโดยง่ายก็จะเลือกทางเช่นนั้น

4. การพัฒนาตามขั้นตอน

คุณธรรมจริยธรรมแต่ละประการจะมีขั้นตอนหลัก ๆ ของการพัฒนาซึ่งครูจะต้องเข้าใจ โดยอาจแบ่งเป็นการพัฒนา
จริยธรรมเดี่ยว และการพัฒนาเป็นชุด เช่น

4.1 การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเดี่ยว ๆ

ความหมายและเป้าหมายของอนิจจัง หมายถึง การรู้เท่าทันคติธรรมว่าสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงแท้ไม่แน่นอน มีเกิดขึ้น
ตั้งอยู่ แล้วดับไป เป้าหมายของการเข้าใจอนิจจังคือการเกิดปัญญาที่จะรู้เท่าทัน และคลายความทุกข์จากสิ่งที่เกิดขึ้น
ขั้นตอนการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเกี่ยวกับอนิจจัง

1) เข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น คือ การรู้เท่าทันความจริงทั้งหลายว่าเป็นอนิจจัง (ปัญญา)

2) ปลงใจได้ โดยจิตไม่หวั่นไหว และมีความสุข (จิตใจเป็นอิสระหรือวิมุตติ)

3) รู้ว่าความไม่เที่ยงแล้วเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย จึงสืบสาวหาเหตุปัจจัย (โยนิโส มนสิการ) เพราะการเปลี่ยนแปลงคือความเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเลื่อนลอยไร้เหตุปัจจัย เหตุปัจจัยของการเปลี่ยนแปลงมี 2 ส่วน คือ

(1) เหตุปัจจัยที่จะทําให้เสื่อม เป็นสิ่งที่ต้องเร่งขวนขวายทําการหลีกเลี่ยง ละ กําจัด แก้ไข ไม่ให้มีเหตุ

ปัจจัยของความเสื่อม แต่ให้มีเหตุปัจจัยของความเจริญเข้ามาแทน

(2) เหตุปัจจัยที่จะทําให้เจริญ เป็นสิ่งที่ต้องเร่งสร้าง เสริม ทําให้สําเร็จและสร้างสรรค์โดยไม่รอให้ปัญหา

เกิดขึ้นหรือมีความร้ายแรง (ไม่ประมาท หรือ อัปปมาท)

ความไม่ประมาทจึงเป็นการไม่อยู่นิ่งเฉย มีความกระตือรือร้น เร่งรัดทําทุกสิ่งที่ควรทํา เพื่อหลีกเลี่ยงความ

เสื่อม และสร้างสรรค์ความเจริญ การมีหรือไม่มีความประมาทจึงทําให้มีการดําเนินชีวิตแตกต่างกันเป็น 3 แบบ คือ

สุข แต่ เสื่อม เพราะปลงใจได้ก็สบาย ทําใจวาเสื่อมก็ช่างและปล่อยตามเรื่อง

เจริญ แต่ ทุกข์ เพราะทําสิ่งต่าง ๆ ด้วยแรงบีบคั้น เช่น ต้องการชนะ จึงทําด้วยความทุกข์ เป็นต้น

เจริญ และ สุข เพราะทําตามเหตุปัจจัยในทางที่ถูกและครบวงจร

4.2 การพัฒนาจริยธรรมเป็นชุด

การพัฒนาจริยธรรม เป็นชุดมีขั้นตอนหลัก ดังนี้

1) วิเคราะห์เหตุการณ์ การกระทํา หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง

2) สืบสาวหาสาเหตุที่แท้จริง

3) สร้างจริยธรรมข้อนําขึ้น 1 ประการ แล้วนําคุณธรรมจริยธรรมอื่น ที่เกี่ยวข้องมาสร้างความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่ายแบบแผนภุมิ เช่น ถ้ากําหนดให้ความยุติธรรมเป็นจริยธรรมนำ จะต้องพัฒนา ความมีเหตุผล และความอดกลั้นต่อสิ่งโน้มน้าวต่าง ๆ ด้วย ถ้ากําหนดให้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นจริยธรรมนํา จะต้องพัฒนาการรับฟังคนอื่น ความอดทน และการแสวงปัญญาด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดเป็นการแสดงออกแบบตามใจตัวและมีผลกระทบต่อบุคคลอื่นโดยไม่ใช่เป็นการ

แสดงออกเพื่อปัญญา จริยธรรม ที่กําหนดให้เป็นข้อนําจึงเป็นข้อแกนหรือข้อประสานระหว่างจริยธรรมข้อต่าง ๆ การเข้าใจชุดจริยธรรมที่สัมพันธ์กันนี้ ครูอาจใช้การกําหนดพฤติกรรมบ่งชี้เป็นรายข้อแล้วพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของพฤติกรรมบ่งชี้นั้น

ตัวอย่าง: คุณธรรมด้านความความซื่อสัตย์

ความซื่อสัตย์ หมายถึง การประพฤติปฏิบัติอยางเหมาะสม และตรงต่อความเป็นจริง ประพฤติปฏิบัติอย่าง

ตรงไปตรงมา ทั้งกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น

การพัฒนาคุณธรรมของครู

               คุณธรรมเป็นอุปนิสัยอันดีงามที่สะสมอยู่ในจิตใจ  ซึ่งได้มาจากความเพียรพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง  ดีงาม  ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน  คุณธรรมจะมีความสัมพันธ์กับหน้าที่ เพราะกระทำหน้าที่จนเป็นนิสัย  พัฒนาคุณธรรมของครูควรจะเริ่มต้นที่คุณธรรมทางสติปัญญา  รวมทั้งความรู้ทางทฤษฎี และแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ส่งผลต่อความมีเหตุผลในการทำหน้าที่คุณธรรมทางศีลธรรม  คือ  ความมีจิตสำนึกในสิ่งที่ดีงาม และเหตุผล  คุณธรรมทางศีลธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือติดตัวมาแต่กำเนิด  หากแต่สร้างขึ้นด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในทางศีลธรรม  ซึ่งจะสะสมอยู่ภายในจิตใจของครู

แหล่งที่มาของข้อมูล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ดวงเดือน พินสุวรรณ์ . 2564 คุณธรรมจริยธรรมสำหรับครู สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 จาก https://graduate.sru.ac.th/wp-content/uploads/2019/06/EDU0101_Morals-and-ethics-of-teachers.pdf

ครูบ้านนอกดอทคอม ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู และลักษณะครูที่ดี สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 https://www.kroobannok.com/2601
                  https://1th.me/pDyac
                  คุณธรรมจริยธรรมของครู สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 จาก https://sites.google.com/a/ddn.ac.th/person/knowledge/discipline_teacher

บทความที่เกี่ยวข้อง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่