เตือน!! ไขัเลือดออกระบาด เลี่ยงอย่าให้ยุงกัด
เตือน!! ไขัเลือดออกระบาด เลี่ยงอย่าให้ยุงกัด

เตือน!! ไข้เลือดออกระบาด เลี่ยงอย่าให้ยุงกัด

ในช่วงที่ฝนตกอย่างต่อเนื่อง มียุงลายชุกชุม ทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่ระบาดได้ง่าย ทางหน่วยงานด้านสาธารณสุข จ.กาญจนบุรี จึงออกมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค”  เน้นกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นพ.นิพนธ์  พัฒนกิจเรือง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 21 ก.ค. 63 มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 31,438 ราย เสียชีวิต 21 ราย โดยจากข้อมูลการกระจายของผู้ป่วย พบผู้ป่วยกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยภูมิภาคที่พบอัตราป่วยต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ ส่วน 3 จังหวัดแรกที่พบอัตราป่วยสูงสุดในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา คือ แม่ฮ่องสอน รองลงมาคือชัยภูมิ และเลย ตามลำดับ สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดกาญจนบุรี (อันดับที่ 66 ของประเทศ)  ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 กรกฎาคม 2563  พบผู้ป่วย 179 ราย ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต (อัตราป่วย 20.84 ต่อประชากรแสนคน)

โดยพบมากที่สุดอำเภอสังขละบุรี จำนวน 18 ราย (อัตราป่วย 46.51 ต่อประชากรแสนคน) รองลงมาคืออำเภอทองผาภูมิ จำนวน 25 ราย (อัตราป่วย 38.41 ต่อประชากรแสนคน) อำเภอท่ามะกา จำนวน 42 ราย (อัตราป่วย 30.80 ต่อประชากรแสนคน) ตามลำดับ

การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพโดยกรมควบคุมโรค คาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ได้ แม้ว่าจำนวนผู้ป่วย ณ ช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 จะมีรายงานผู้ป่วยน้อยกว่า ปี 2562 

แต่เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้ที่เป็นฤดูฝน มีฝนตกอย่างต่อเนื่องและมียุงลายชุกชุม ทำให้โรคไข้เลือดออก สามารถแพร่ระบาดได้ง่าย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาญจนบุรี ขอแนะนำประชาชนในการดูแลตนเอง ป้องกัน “ไม่ให้ยุงกัด” โดยสวมใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ไม่อยู่ในที่มืด อับทึบ  ใช้สารไล่ยุงชนิดต่างๆ หรือยาทากันยุง ใช้ไม้ช็อตยุง นอนในมุ้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ต้องจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ดังนี้ 

1. เก็บบ้านให้สะอาด เช่น พับเก็บเสื้อผ้าใส่ในตู้หรือแขวนให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง

2. เก็บขยะที่อยู่บริเวณรอบบ้าน เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ตัดแต่งกิ่งไม้และบริเวณรอบบ้านให้โปร่งโล่ง

3. เก็บน้ำ ภาชนะที่ใส่น้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ต้องปิดฝาให้มิดชิด ล้างคว่ำภาชนะใส่น้ำ และเปลี่ยนน้ำในกระถาง หรือแจกันทุกสัปดาห์ ป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่  ซึ่งจะสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือ 1. โรคไข้เลือดออก 2. โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3. โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือโรคชิคุนกุนยาอีกด้วย

หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หน้าแดง มีผื่น มีรอยจ้ำเลือด หรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา เบื่ออาหาร จุกแน่นลิ้นปี่ หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์ สสส. วันที่ 4 สิงหาคม 2563

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่