เปิดเทอม’63 ระวังโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2562 พบมีผู้ป่วยสูงถึง 128,401 ราย เสียชีวิต 133 ราย
จากรายงานของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในปี 2562 พบมีผู้ป่วยสูงถึง 128,401 ราย เสียชีวิต 133 ราย โดยอัตราการป่วยพบมากในช่วงหน้าฝน ดังนั้นช่วงหน้าฝนนี้ เว็บไซต์ ครูอาชีพดอทคอม จึงนำความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกมาฝากกัน ดังต่อไปนี้
โรคไข้เลือดออก (dengue hemorrhagic fever) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค
การติดต่อของโรคนี้ไม่ติดต่อกันจากคนสู่คน แต่ติดต่อกันได้โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายตัวเมียดูดเลือดผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสเดงกี เชื้อจะเข้าไปฝังตัวภายในกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง โดยมีระยะฟักตัวประมาณ 8-10 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด ทำให้คนๆ นั้นป่วยได้ โดยมีระยะฟักตัวของเชื้อไวรัสเดงกีในคนประมาณ 3-14
อาการของโรคจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล แต่โดยส่วนใหญ่อาการที่พบ คือ
- ไข้สูงลอย 2-7 วัน
- มีเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจอาเจียน และถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena)
- บางรายอาจมีภาวะตับโต และอาจรู้สึกเจ็บเมื่อกดที่ชายโครงด้านขวา
- มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ภาวะช็อก
การดำเนินโรคของโรคไข้เลือดออกเดงกี แบ่งได้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะไข้ ระยะวิกฤต/ช็อก และระยะฟื้นตัว
1. ระยะไข้
– ไข้สูงเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ส่วนใหญ่ไข้จะสูงเกิน 38.5 องศาเซลเซียส และไข้จะสูงลอยอยู่ 2-7 วัน
– มีเลือดออก ส่วนใหญ่จะพบที่ผิวหนัง เป็นจุดเลือดเล็กๆ กระจายอยู่ตามแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจมีเลือดกำเดา หรือเลือดออกตามไรฟัน ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (melena)
– มีภาวะตับโต โดยส่วนใหญ่จะคลำได้ว่าตับโตเมื่อผ่านไปประมาณ 3-4 วัน นับตั้งแต่เริ่มป่วย ในระยะที่ยังมีไข้อยู่ตับจะนุ่ม และกดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา
2. ระยะวิกฤต/ช็อก
– ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีจะมีอาการรุนแรง มีภาวะไหลเวียนโลหิตล้มเหลวเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับตอนที่มีไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว
– ภาวะช็อกที่เกิดขึ้นนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ถ้าไม่ได้รับการรักษาผู้ป่วยจะมีอาการแย่ลง และจะเสียชีวิตใน 12-24 ชั่วโมง หลังเริ่มมีภาวะช็อก
3. ระยะฟื้นตัว
– ระยะฟื้นตัวของผู้ป่วยโรคนี้ค่อนข้างเร็ว ในผู้ป่วยที่ไม่ช็อกเมื่อไข้ลดส่วนใหญ่ก็จะดีขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่มีช็อกถ้าได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยการฟื้นตัวใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ผู้ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน
การป้องกันโรค
– จัดการสิ่งแวดล้อมด้วยในบ้านและรอบบ้านให้เป็นระเบียบ ปลอดโปร่ง
– ปิดภาชนะที่ใช้จัดเก็บน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่
– เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำ ทุกๆ 7 วัน และระวังไม่ให้มีน้ำขัง เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง
*หากมีอาการผิดปกติ หรือสงสัยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกให้รีบพบแพทย์ทันที*
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค, กระทรวงสาธารณสุข, ฝ่ายประกันสุขภาพ เอไอเอ ประเทศไทย