แบบหัดอ่านหนังสือไทย เล่มต้น ชั้นประถมปีที่ ๑ ฉบับสมบูรณ์ ปี ๒๔๙๙




เฟซบุ้ค บุญเสริม แก้วพรหม ได้เผยแพร่ แบบหัดอ่านหนังสือไทย เล่มต้น ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ แต่งโดย อำมาตย์โทพระวิภาชวิทยาสิทธิ์ (สังข์ พุกกะเวช) เมื่อปี ๒๔๗๖ กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้เป็นหนังสือแบบเรียนสำหรับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ทั่วประเทศ เมื่อปี ๒๔๙๙ และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงหนังสือแบบเรียนชุด “มานีมานะ” เข้ามาแทนที่ในปี ๒๕๒๑ มีรายละเอียดดังนี้
เมื่อลุงเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่โรงเรียนวัดยางงาม อำเภอท่าศาลา เมื่อปี ๒๕๐๖ นั้น ได้เริ่มฝึกอ่านฝึกเขียน ก า กา กา/ ม า มา กามา/ ข า ขา ขากา… และอ่านออกเขียนได้ด้วยหนังสือเล่มนี้..”แบบหัดอ่านหนังสือไทย” เล่มนี้ จึงเป็น “ครูต้น” ของลุงครับ
แบบหัดอ่านหนังสือไทยเล่มนี้ เน้นการสอนอ่าน โดยเน้นการสะกดคำ แจกลูก เริ่มตั้งแต่สระเดี่ยวเสียงยาว แล้วต่อด้วยสระเดี่ยวเสียงสั้น และสระประสมตามลำดับ
ในแต่ละบท เมื่อสะกดคำใดแล้ว ก็อ่านคำนั้นซ้ำ โดยนำคำอื่นๆที่เรียนมาแล้วในบทก่อนๆ มาให้ฝึกอ่านซ้ำในรูปของประโยคสั้นๆ
จนเมื่อผ่านการสะกดคำในแม่ ก กา ครบทุกสระแล้ว ก็นำคำมาผูกเป็นเรื่องราวให้อ่านทวน บทอ่าน “ตาคำแกทำนากะเมียแก…” ที่เด็กๆรุ่นนั้นจดจำได้ดี จึงปรากฏอยู่ในบทที่ ๒๑
หลังจากนั้นจึงเป็นการอ่านผันวรรณยุกต์ โดยเริ่มต้นที่พยัญชนะต้นเป็นอักษรกลางประสมสระเสียงยาว ซึ่งสามารถผันได้ครบห้าเสียงและง่ายต่อการออกเสียงของเด็ก แล้วจึงไล่ไปถึงอักษรสูง อักษรต่ำ ตามความยากง่าย
นำมาเสนอทั้งเล่มให้ได้ชื่นชมตามคำเรียกร้องกันแล้วนะครับ
ลุงบุญเสริม
๓ พฤษภาคม ๒๕๖๐
ขอบคุณที่มา : เฟซบุ้ค บุญเสริม แก้วพรหม