เมื่อเด็ก ๆ ต้องเรียนที่บ้าน: เรื่องที่คุณครูและผู้บริหารควรทราบ (ภาคต้น) โดย ศูนย์ ESD จุฬาฯ
เมื่อเด็ก ๆ ต้องเรียนที่บ้าน: เรื่องที่คุณครูและผู้บริหารควรทราบ (ภาคต้น) โดย ศูนย์ ESD จุฬาฯ

เมื่อเด็ก ๆ ต้องเรียนที่บ้าน: เรื่องที่คุณครูและผู้บริหารควรทราบ (ภาคต้น) โดย ศูนย์ ESD จุฬาฯ

บทความดีๆ จากศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯ

เมื่อเด็ก ๆ ต้องเรียนที่บ้าน: เรื่องที่คุณครูและผู้บริหารควรทราบ (ภาคต้น) โดย ศูนย์ ESD จุฬาฯ 2

วรเชษฐ แซ่เจีย*

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในประเทศไทย ทำให้เด็กนักเรียนไทยกว่า 13 ล้านคน (ข้อมูลปีการศึกษา 2561) ต้อง “เรียนที่บ้าน” ไม่ว่าจะเรียนผ่านห้องเรียนเสมือน ระบบการสื่อสารออนไลน์ ระบบการสื่อสารทางไกล ทั้งวิทยุ-โทรทัศน์ หรือการเรียนทางไกล ตามแต่การวางระบบของแต่ละสถานศึกษา

ตามที่ทางศูนย์วิจัยฯ เคยนำเสนอไปในหลายโอกาสว่า นอกจากการเตรียมตัวในเรื่องของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของคุณครูที่ต้องคำนึงถึงบริบทและข้อจำกัดของนักเรียนแต่ละคน และการบริหารจัดการของผู้บริหารที่ควรมองให้รอบด้านแล้ว ในบทความชิ้นนี้ ศูนย์วิจัยฯ จึงอยากนำเสนอมุมมองของนักการศึกษาชื่อดังระดับโลกอย่าง Andy Hargreaves

Hargreaves ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านการวิจัยอยู่ที่ Boston College และเป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่ University of Ottawa ประเทศแคนาดา ก่อนหน้านี้เขายังเคยเป็นศาสตราจารย์รับเชิญในอีกหลายสถานศึกษาทั่วโลก ทั้งในสเปน สหราชอาณาจักร สวีเดน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฯลฯ โดยเขามุ่งศึกษาแนวทางการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมาพัฒนาคุณภาพ

โดยในบทความนี้ เขาได้ฝากข้อเตือนใจให้กับคุณครูและผู้บริหารที่จะดูแลนักเรียนที่เรียนอยู่ที่บ้าน เกี่ยวกับสิ่งที่ควรและไม่ควรทำเพื่อรักษาและพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ของเด็ก ๆ เหล่านี้ในช่วงที่โรงเรียนยังปิดอยู่ เผื่อว่าโรงเรียนและผู้กำหนดนโยบายอาจจะเผลอมองข้ามไป ประกอบด้วย 18 ข้อ ดังนี้

1. อย่ามอบหมายการบ้านกองโตให้นักเรียน – แต่มุ่งสนับสนุนให้นักเรียนได้เรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวแทน ไม่ว่าจะในห้องครัว ห้องนั่งเล่น สวนสาธารณะ หรือที่อื่น ๆ เพราะหัวใจสำคัญของการเรียนในช่วงปิดเรียนก็คือ “การเรียนรู้” ไม่ใช่ขั้นตอนตามหลักสูตร

2. จงระลึกไว้เสมอว่า เด็ก ๆ บางคนอาจจะกำลังเรียนรู้ในเรื่องที่ต่างออกไป – นักเรียนของเราต้องนั่งเรียนในห้องเรียนเพื่อเตรียมตัวสอบมานานเกินพอแล้ว ควรจะเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้จากสิ่งที่ต่างออกไปจากแบบเรียนและแบบฝึกหัดบ้าง เพราะการเรียนรู้สามารถเกิดได้ด้วยหลากหลายวิธีการในบริบทที่แตกต่างกัน

3. อย่าให้ COVID-19 มาเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ – เพราะเราสามารถนำเอาปรากฏการณ์นี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ในแต่ละวิชาได้ เช่น กิจกรรมคณิตศาสตร์จากข้อมูลทางสถิติ กิจกรรมภูมิศาสตร์จากแนวโน้มการแพร่ระบาดเชิงพื้นที่ กิจกรรมสังคมศึกษาจากการศึกษาแนวทางการดำเนินงานของภาครัฐ ฯลฯ

4. Online Learning ≠ On-screen Learning – ถึงแม้เราจะนำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารมาใช้สนับสนุนการเรียนออนไลน์ แต่การเรียนรู้แบบออนไลน์ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นที่หน้าจอ (on-screen) เท่านั้น คุณครูควรหันมาให้ความสนใจและความสำคัญกับการออกแบบกิจกรรมตามแนวทางการเรียนทางไกล (remote learning หรือ distance learning) ให้มากขึ้น

5. จัดหาสื่อการเรียนรู้ให้กับผู้ปกครองที่ไม่พร้อม – อุปกรณ์ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแท็บเล็ตหรือระบบอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียรเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียนด้วย เช่น ดินสอสี กาว กระดาษ หนังสือ นิตยสาร ฯลฯ โดยทางโรงเรียนอาจจะคุณครูไปส่งถึงบ้าน ฝากผ่านรถโรงเรียน หรือให้ผู้ปกครองมารับให้ก็ได้

6. อย่าทอดทิ้งนักเรียนกลุ่ม “เกือบเสี่ยง” – เมื่อโรงเรียนได้สำรวจข้อมูลความต้องการ/ข้อจำกัดของนักเรียนและครอบครัวแล้ว อาจจะมีการส่งความช่วยเหลือไปยังนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะไม่ได้เรียนรู้มากก่อน แต่ก็อย่าละเลยนักเรียนที่กำลังประสบปัญหาในด้านอื่น ๆ ที่อาจจะกระทบกับการเรียนรู้ด้วย ตัวอย่างเช่น นักเรียนที่ต้องช่วยที่บ้านทำงาน นักเรียนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ หรือนักเรียนที่อยู่กับผู้ปกครองที่ไม่ได้มีทักษะเทคโนโลยีมากนัก

7. จัดสรรเวลาและแหล่งการเรียนรู้ของคุณครูให้กับคนที่จำเป็นต้องใช้ – แทนที่คุณครูจะทุ่มเวลาให้กับนักเรียนทุกคนพร้อม ๆ กัน ท่านอาจจะหันมาประสานงานและขอความร่วมมือกับผู้ปกครองที่มีความพร้อมให้มีส่วนร่วมในการดูแลบุตรหลานระหว่างที่มีการเรียนรู้ที่บ้าน และให้เวลากับนักเรียนที่มีข้อจำกัดในด้านนี้แทน อย่างไรก็ตาม คุณครูควรจะติดต่อสื่อสารกับทางครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เพราะแม้ครอบครัวจะพร้อม แต่ก็อาจเจออุปสรรคได้เช่นเดียวกัน

8. การจัดการศึกษาพิเศษควรโฟกัสไปที่กลุ่มนักเรียนที่มีความบกพร่องในการเรียนรู้และอารมณ์ – คุณครูและคุณครูการศึกษาพิเศษควรวางแผนลงไปในแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program: IEP) ทั้งแนวทางการติดต่อสื่อสารในช่วงนี้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะต่าง ๆ รวมถึงการวัดและประเมินผลที่หลากหลายและสร้างสรรค์

9. วางระบบการสื่อสารให้ครอบคลุมนักเรียนทุกกลุ่มและครอบครัวทุกแบบ – ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการสื่อสารระหว่างทีมโรงเรียนและทีมบ้านเท่านั้น แต่กินความหมายกว้างถึงการเลือกใช้สื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ด้วย และพยายามทำให้เสียงของนักเรียนทุกคนมีคุณค่า และควรค่าแก่การนำมาคิดต่อเพื่อออกแบบการช่วยเหลือและสนับสนุนต่อไป

ศูนย์วิจัยฯ ขอหยุดไว้ที่ 9 ข้อแรกก่อน ผู้อ่านทุกท่านสามารถติดตามอีก 9 หัวข้อที่จะเน้นไปที่การดำเนินการของโรงเรียนได้ในตอนต่อไปครับ

อ้างอิง
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ม.ป.ป.). 3 สถิติการศึกษา. Retrieved from http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/03.aspx
Strauss, V. (2020, 7 April). A complete list of what to do — and not do — for everyone teaching kids at home during the coronavirus crisis. Retrieved from https://www.washingtonpost.com/…/complete-list-what-do-not…/

*นำเสนอและเรียบเรียงโดย
วรเชษฐ แซ่เจีย ผู้ช่วยวิจัย ประจำศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ขอบคุณที่มา : ศูนย์วิจัยและพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ครุฯ จุฬาฯ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่